ปลาเสือต่อ
ชื่อสามัญ Tiger fish , Siamess tigerfish , Gold
datnoid
ชื่อวิทยาศาสตร์ Datnioides undecimradiatus (Roberts & Kottelat, 1994)
ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอ
ปลาเสือตอเป็นปลาในวงศ์ Family
Lobotidae ซึ่งปลาในวงศ์นี้ ในแหล่งน้ำจืดของประเทศไทย พบเพียง 2
ชนิด คือ ปลาเสือตอ และปลากระพงลาย
ปลาทั้งสองชนิดมีรูปร่างคล้ายกันมากต่างกันที่ลายบนตัวปลาซึ่งในปลาเสือตอมีเส้นลายดำพาดขวางประมาณ
6 แถบ แต่ในปลากระพงลายเส้น ลายดำมีถึง 8-10
แถบ และสีของปลาเสือตอเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ส่วนของปลากระพงลาย เป็นสีเงินอมเทา
ปลาเสือตอเป็นปลาที่มีรูปร่างค่อนข้างแปลก หัวแหลมท้ายกว้าง
ลำตัวค่อนข้างลึกแบนข้าง ลำตัวสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน จุดเด่น คือ
มีลายดำพลาดขวางลำตัว 6 ลาย จะงอยปากยื่นยาว
ปากกว้างสามารถยืดหดได้ ดวงตากลมมีขนาดใหญ่ ส่วนหัวลาดลงเป็นปลายแหลม และมีครีบ 7
ครีบ ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นหนามแหลมแข็งแรง 12
อัน ครีบท้อง 1
คู่ อยู่ใต้ครีบอก ครีบก้นเป็นหนามแข็ง 3 อัน
และส่วนที่เหลือเป็นก้านครีบอ่อน ครีบหางมีลักษณะกลมแบบพัด
ในแหล่งน้ำธรรมชาติพบมีความยาวประมาณ 40 ซม.
สำหรับปลาเพศผู้หรือเมียค่อนข้างดูยาก
ปลาเสือตอที่พบในประเทศไทยมีลายบนตัวแตกต่างกันเป็น 2
พวก โดยพวกแรกมีลายสีดำที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่ของเส้นดำกลางตัวกว้างพอ ๆ
กับส่วนของสีพื้น ซึ่งเป็นสีอ่อน มักรู้จักในชื่อเฉพาะว่า “ปลาเสือตอลายใหญ่”
และอีกชนิดหนึ่งลักษณะเส้นของลายดำที่พาดแต่ละเส้นมีขนาดเล็ก
โดยเล็กกว่าชนิดลายใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่านั้น
ปลาลายเส้นเล็กนี้เป็นปลาที่พบทั่วไปเป็นส่วนใหญ่เรียกว่า “ปลาเสือตอลายเล็ก”
ตามธรรมชาติปลาเสือตอชอบหากินอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ 2-3 เมตร
ไม่ชอบที่มีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาแน่น แต่ชอบอยู่ในที่มีเสาหลัก ต่อไม้ใต้น้ำ
อุปนิสัยคอยจ้องจับเหยื่อโดยแฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ
ซึ่งการชอบอาศัยอยู่ที่ตอไม้นี่เอง จึงถูกเรียกว่าปลาเสือตอ อาหารของปลาเสือตอ
ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก และลูกกุ้ง
การกินอาหารของปลาเสือตอโดยการพุ่งเข้าฮุบเหยื่ออย่างว่องไว ขณะที่กินอาหารปลาจะมีสีที่สดใส
และมักกางหนามของครีบหลังตั้งขึ้น เป็นปลาที่มีประสาทตาไว
คอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
ปลาเสือตอเป็นปลาที่รักสงบไม่ก้าวร้าวสามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายตัว และสามารถเลี้ยงปนกับปลาอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกันได้
ปลาเสือตอในภาคกลาง ปัจจุบันนี้ได้ลดจำนวนลงมาก และกำลังจะสูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่ง
ปลาเสือตอที่พบในแหล่งน้ำทางภาคอีสาน เป็นปลาเสือตอลายเล็ก
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius undecimraciatus หรือในชื่อเรียกที่รู้จักในตลาดปลาสวยงามว่า
"เสือตอลายเล็ก" พบมากในแม่น้ำโขงแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร
อุบลราชธานี ยโสธร ในแม่น้ำมูล มีจำนวนค่อนข้างมาก ราคาซื้อขายขนาดเล็ก 2
นิ้วฟุต ตัวละ 20-50 บาท
ปลาเสือตอลายใหญ่ และเสือตอลายคู่ (ลาย
7 ขีด) ปลาเสือตอทั้ง 2 ชนิด
นี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศเขมร เป็นปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ
ทะเลสาบในประเทศเขมร โดยมีพ่อค้าคนกลางเก็บรวบรวม
ปลาเสือตอทุกขนาดลำเลียงเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขายส่งต่อไปยังต่างประเทศทั่วโลกเป็นสินค้าปลาสวยงามนิ้วละ
60-100 บาท
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของปลาเสือตอ
มีชุกชุมบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ด
จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีพบที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง
ส่วนในต่างประเทศพบที่ กัมพูชา สุมาตรา พม่า บอร์เนียว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอสามารถวางไข่โดยวิธีธรรมชาติ
โดยไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดฮอร์โมนเข้าช่วย ช่วงการวางไข่ประมาณเดือน มีนาคม-พฤษภาคม
ปลาเสือตอเพศผู้มีขนาดโตเต็มวัยเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม
ส่วนปลาเสือตอเพศเมียขนาด 800 กรัม
ก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ไข่ปลาเสือตอเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร
ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 14-17 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 29 องศาเซลเซียส
และถุงอาหารยุบภายในเวลา 2-3 วัน
อาหารที่เหมาะสมของลูกปลาเสือตอวัยอ่อนควรเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก เช่น โรติเฟอร์ในระยะ
3-10 วันแรก และใช้ไรแดงเลี้ยงอนุบาลจนได้ขนาด 3
เซนติเมตรขึ้นไป จึงใช้ หนอนแดง อาร์ทีเมียขนาดใหญ่
หรือลูกปลาขนาดเล็กให้กินเป็นอาหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น