วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง



                                                                                 





      ปลาหางนกยูง มีชื่อสามัญว่า  Guppy  or  Millions  Fish  or  Live-bearing  Tooth-carp เป็นปลาสวยงามน้ำจืดชนิดหนึ่งที่จัดว่าเป็นปลาติดตลาด เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว   ถึงแม้ว่าจะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่มีความสวยงามและว่ายน้ำอยู่เสมอ ทำให้เป็นที่ต้องตาของผู้เลี้ยงโดยทั่วไป จึงมักจำหน่ายได้ง่ายและจำหน่ายได้ดีตลอดปี ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันมากในตู้กระจก  ภาชนะ  หรือบ่อเลี้ยงปลาภายนอกอาคาร ซึ่งถ้าเป็นบ่อเลี้ยงปลาภายนอกอาคารมักเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงพรรณไม้น้ำ  เช่น ในกระถางบัว อ่างเลี้ยงสาหร่าย
1 ประวัติของปลาหางนกยูง               
                ปลาหางนกยูงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แถบ เวเนซูเอลล่า หมู่เกาะคาริเบียนของประเทศบาร์บาโดส และ ในแถบลุ่มน้ำอเมซอน ในธรรมชาติอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด และ น้ำกร่อยที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งจนถึงน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากินยุง (Mosquito  Fish)   ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ ทำให้สามารถอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนน้อยๆได้ดี   ในระยะเริ่มแรกนิยมใช้ปลากลุ่มนี้ในการนำไปช่วยกำจัดยุงลาย เนื่องจากมีคุณสมบัติที่พิเศษถึง  2 ประการ คือ ประการแรกมีความอดทน เนื่องจากมีอวัยวะช่วยหายใจที่เรียก Labyrinth  organ   ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่เริ่มเน่าเสียซึ่งมีปริมาณออกซิเจนต่ำได้ ประการที่สอง คือ  มีความสามารถแพร่พันธุ์ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ปลาหางนกยูงได้ถูกนำเข้าไปทดลองเลี้ยงในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อป .. 2451   และแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆในเขตร้อน เพื่อใช้ปราบยุงลายช่วยลดปัญหาเรื่องการระบาดของไข้มาลาเรีย โดยนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำขังต่างๆหรือแหล่งน้ำเสียที่มีตัวอ่อนของยุง ที่เรียกกันว่าลูกน้ำอยู่มากโดยไม่มีปลาชนิดอื่นเข้าไปอาศัยอยู่ได้ เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ แต่สำหรับปลาหางนกยูงหรือที่เรียกว่าปลากินยุง จะสามารถใช้อวัยวะช่วยหายใจนำออกซิเจนจากอากาศมาใช้ จึงทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่ชอบกินลูกน้ำ แล้วแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถควบคุมปริมาณลูกน้ำให้ลดลงได้ จึงเป็นการช่วยลดปริมาณยุงลงได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนามาเป็นการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม โดยนำปลาหางนกยูงที่มีความสวยงามจากประเทศเวเนซูเอลา  บาร์บาดาส  ทรินิแดด  บราซิล  และกิอานา   เข้าไปดำเนินการเพาะพันธุ์และมีการคัดพันธุ์จนได้ปลาหางนกยูงที่มีความสวยงามหลายสายพันธุ์    
2 การจำแนกทางอนุกรมวิธาน                  
                Nelson (1984)   ได้จัดลำดับชั้นของปลาหางนกยูงไว้ดังนี้    
                    Class                       :  Osteichthyes
                       Order                   :  Cyprinodontiformes (Tooth-carps)
                          Suborder           :  Cyprinodontoidei
                             Family             :  Poeciliidae (Livebearers)
                                Subfamily    :  Poeciliinae
                                   Genus       :  Poecilia
                                      Specie    :  reticulata                          
3 ลักษณะรูปร่างของปลาหางนกยูง                    
                ปลาหางนกยูงจัดว่าเป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่ปลาตัวผู้มีขนาด 3 - 5 เซนติเมตรส่วนตัวเมียมีขนาด 5 - 7 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามหลายสีแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยเฉพาะที่ส่วนหางจะมีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ และเฉพาะปลาเพศผู้จะมีครีบหางยาวและสีสันเด่นสะดุดตา  
.
ภาพที่ 1  แสดงลักษณะภายนอกของปลาหางนกยูง
                                                  ที่มา : ดัดแปลงจาก Pop 1968 (2009)                                           ที่มา : http://www.thaiguppy.com/index.php
.
.
4 สายพันธุ์ปลาหางนกยูง             
               ปลาหางนกยูงเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงกันมานาน และแพร่หลายไปแทบทุกประเทศในโลก ประกอบกับเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัวและสามารถผสมข้ามสายพันธุ์กันได้ง่ายมาก ทำให้เกิดปลาสายพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมาเป็นจำนวนมาก  แต่ก็พอจะจัดกลุ่มของสายพันธุ์ปลาหางนกยูงได้เป็นดังนี้  คือ
                4.1 สายพันธุ์คอบร้า (Cobra) มีลวดลายเป็นแถบยาวหรือสั้น พาดขวาง พาดตามยาว หรือ พบพาดเฉียงทั่วลำตัวตลอดถึงโคนหาง ลวดลาย คล้ายลายหนังงู  ครีบหางมีมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม (delta tail) รูปพัด (fan tail) หรือ หางบ่วง (lyre tail)  มีหลากหลายและหลากสี สอดคล้องกับลำตัว  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red-tailed Tuxedo (Golden Type),  Black-tailed Tuxedo,  Blue-tailed Tuxedo,  Red-tailed King Cobra,   Yellow-tailed King Cobra,   Lace King Cobra 
.
ภาพที่ 2  แสดงลักษณะของปลาปลาหางนกยูงสายพันธุ์คอบร้า
                                           ที่มา : สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (2553)
.
                 4.2 สายพันธุ์ทักซิโด้ (Tuxedo) ลักษณะครึ่งตัวด้านท้ายมีสีดำ หรือ สีน้ำเงินเข้ม  ครีบหางมีหลากหลายแบบ  ครีบหลังและครีบหางหนาใหญ่ มีสีและลวดลายเหมือนกัน  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป คือ  German tuxedo (เยอรมัน)  Neon tuxedo (สันหลังสีขาว สะท้อนแสง)  Black tuxedo (ครีบหางสีดำ)  Golden tuxedo (ครีบหางสีส้ม)  
ภาพที่ 3  แสดงลักษณะของปลาปลาหางนกยูงสายพันธุ์ทักซิโด้
                                           ที่มา : สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (2553)
.
               4.3 สายพันธุ์โมเสค (Mosaic)  พื้นลำตัวสีเทาอ่อน บริเวณด้านบนสีฟ้า หรือ เขียว อาจแซมด้วยสีแดง ชมพู หรือ ขาว  ครีบหางมีหลากหลาย  ครีบหลังขาวเรียบ หรือ ชมพูอ่อน หรืออาจมีจุด หรือ แต้มขนาดเล็ก  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red-tailed Mosaic,  Santamaria Mosaic,  Blue-tailed Mosaic, Ribbon  Swallow-tailed Mosaic  
.
ภาพที่ 4  แสดงลักษณะของปลาปลาหางนกยูงสายพันธุ์โมเสค
                                           ที่มา : สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (2553)
.
                    4.4 สายพันธุ์กร๊าซ (Grass)  ลำตัวมีหลากสี  ครีบหางมีจุด หรือแต้มเล็ก ๆ กระจาย แผ่ไปทั่งตามรัศมีของหางคล้ายดอกหญ้า  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Red Grass,  Blue Grass,  Yellow Grass,  Golden Yellow Grass 
.
ภาพที่ 5  แสดงลักษณะของปลาปลาหางนกยูงสายพันธุ์กร๊าซ
                                            ที่มา : สถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ (2553)
.
                4.5 สายพันธุ์นกยูงหางดาบ (Sword tail)  ลำตัวมีสีเทา ฟ้า เขียว แดง ชมพู เหลือง คล้ายหางนกยูง พันธุ์พื้นเมือง อาจมีจุด หรือ ลวดลายบนลำตัว  ครีบหางเป็นแฉกคล้ายปลาดาบ อาจมีทั้งด้านบน หรือ ด้านล่าง หรือ ด้านใดด้านหนึ่ง  มีชื่อเรียกตามสีที่แตกต่างกันไป  คือ  Double sword (หางกรรไกร)  Top sword (หางดาบบน)  bottom sword (หางดาบล่าง)  

ภาพที่ 5  แสดงลักษณะของปลาปลาหางนกยูงสายพันธุ์หางดาบ
                                            ี่มา Free-pet-wallpapers.com (2012) (บน)
                                                     CPSguppyfarm.com (2009) (ล่าง)
.
5 การจำแนกเพศของปลาหางนกยูง             
                ความแตกต่างลักษณะเพศของปลาหางนกยูง   สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกได้หลายประการ  คือ
                5.1 ขนาดของลำตัว  ปลาหางนกยูงเพศเมียมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่และอ้วน ส่วนปลาเพศผู้จะตัวเล็กเรียวยาว        
                5.2 ความยาวของครีบ  ปลาเพศผู้จะมีครีบหลังและครีบหางยาวกว่าปลาเพศเมียมาก โดยเฉพาะครีบหางจะยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว  ส่วนปลาเพศเมียครีบหางจะสั้น
                5.3 สีของลำตัวและครีบ ปลาเพศผู้จะมีลำตัวและครีบที่มีสีสันเข้ม  สด   และมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์  ส่วนปลาเพศเมียลำตัวมักจะไม่มีสีสัน  แต่อาจมีสีบ้างที่ครีบหาง
                5.4 อวัยวะสืบพันธุ์ ปลาเพศผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์ลักษณะเป็นท่อยาวๆ เรียกท่อส่งน้ำเชื้อ(Gonopodium)  ซึ่งเจริญมาจากครีบก้นและไปอยู่ใต้ครีบท้อง  ดังนั้นปลาเพศผู้จะไม่มีครีบก้น   แต่ปลาเพศเมียจะมีครีบก้นตามปกติ
                5.5 จุดดำท้ายส่วนท้อง  ปลาเพศเมียจะมีจุดหรือวงที่บริเวณท้ายของส่วนท้องซึ่งเป็นบริเวณที่มีผนังค่อนข้างบาง ถ้าเป็นแม่ปลาที่มีไข่ค่อนข้างแก่จะสามารถสังเกตจุดสีดำซึ่งเป็นลูกตาของลูกปลาในไข่ปลาได้
.
ภาพที่ 6  แสดงความแตกต่างระหว่างปลาหางนกยูงเพศผู้ (บน กับ เพศเมีย (ล่าง)
                                ที่มา : ดัดแปลงจาก Free-pet-wallpapers.com (2012)
.
6 การแพร่พันธุ์ของปลาหางนกยูง                   
                ตามปกติปลาหางนกยูงจะสามารถแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนในบ่อเลี้ยงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบ่อเลี้ยงที่มีพรรณไม้น้ำอยู่มาก ทั้งนี้เนื่องจากปลาหางนกยูงเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว และสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีเกือบตลอดปี เมื่อปลาเติบโตเจริญวัยถึงขั้นสมบูรณ์เพศ   ปลาเพศผู้ก็จะเข้าผสมพันธุ์กับปลาเพศเมีย โดยยื่นท่อส่งน้ำเชื้อเข้าไปทางช่องสืบพันธุ์ของเพศเมีย   แล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ในท้องของปลาเพศเมีย ซึ่งเป็นการผสมพันธุ์ภายใน   จากนั้นไข่ก็จะมีการพัฒนาต่อไป จนฟักออกเป็นตัวก็จะถูกปล่อยหรือคลอดออกจากแม่ปลา ลูกปลาที่คลอดออกมาใหม่ๆจะมีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ที่เกิดจากการผสมภายนอก และยังค่อนข้างมีความแข็งแรง คือสามารถว่ายน้ำอย่างรวดเร็วเพื่อหาที่หลบซ่อน มิฉะนั้นจะถูกแม่ปลาหรือปลาตัวอื่นจับกินเป็นอาหาร ผู้เลี้ยงปลาหางนกยูงทั่วไปจึงสามารถพบลูกปลาเกิดขึ้นในบ่อเลี้ยงได้  
.
   
ภาพที่ 7  แสดงการคลอดลูกของแม่ปลาหางนกยูง
                                                   ที่มา : Frank (1971)
                    การเจริญเติบโตของปลาหางนกยูงจากเล็กจนโตเต็มวัย จะใช้เวลาประมาณ  2 - 3 เดือน  ปลาเพศเมียจะให้ลูกได้ครอกละประมาณ 30 - 90 ตัว ขึ้นกับขนาดของปลา คือ  ในช่วงแรกๆแม่ปลายังโตไม่เต็มที่จะให้ลูกครอกละประมาณ 30 - 40 ตัว เมื่ออายุมากขึ้นขนาดใหญ่ขึ้นจะให้ลูกครอกละประมาณ  40 - 60 ตัว และเมื่ออายุมากกว่า  1 ปี  จะให้ลูกครอกละประมาณ 50 - 90 ตัว และหลังจากที่คลอดลูกแล้ว จะสามารถให้ลูกครอกต่อไปได้อีกในเวลาประมาณ 25 - 35 วัน แล้วแต่ขนาดของปลา การถ่ายน้ำ   และอาหารที่ได้รับ คือ แม่ปลาขนาดเล็กจะให้ลูกครอกต่อไปเร็ว การเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆก็ช่วยให้มีการตั้งท้องและตกลูกเร็วขึ้น นอกจากนั้นการเลือกใช้อาหารที่ดี และให้อาหารสม่ำเสมอก็ช่วยให้ปลาตกลูกเร็วขึ้นเช่นกัน
7 การเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง                   
                ถึงแม้ว่าปลาหางนกยูงจะแพร่พันธุ์ง่าย และมีลูกปลาเกิดขึ้นได้ในบ่อเลี้ยงอยู่เสมอ แต่ถ้าปล่อยให้แม่ปลาคลอดลูกเองภายในบ่อเลี้ยง   ในช่วงแรกลูกปลาอาจมีอัตรารอดสูง แต่เมื่อมีจำนวนปลามากขึ้น ลูกปลาในครอกต่อๆไปก็จะมีโอกาสรอดน้อยมาก เพราะจะถูกปลาตัวอื่นๆไล่จับกิน จากการทดลองพบว่าหากไม่มีการใส่พันธุ์ไม้น้ำ หรือให้ที่หลบซ่อนสำหรับลูกปลาที่จะคลอดออกมา ในบ่อเลี้ยงปลาหางนกยูงที่มีพ่อแม่ปลาอยู่หลายคู่ ลูกปลาจะมีโอกาสรอดน้อยมาก ยิ่งถ้านำมาเลี้ยงในบ่อขนาดเล็กหรือภาชนะแคบๆ ลูกปลาจะถูกไล่กินจนหมดถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่ลูกปลาจึงจะมีโอกาสรอดได้บ้าง โดยจะเหลือรอดครอกละประมาณ 10 - 20 ตัว   ขึ้นกับจำนวนปลาที่มีอยู่ในบ่อ ดังนั้นผู้ที่ต้องการดำเนินการเพาะปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่ายอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการจัดการการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงที่ดี  ซึ่งดำเนินการได้หลายวิธีการ ดังนี้
                7.1 แยกเพาะในบ่อเพาะขนาดเล็ก  ใช้บ่อหรือภาชนะขนาดเล็กพื้นที่ประมาณ  1 ตารางฟุตแยกเลี้ยงปลาบ่อละ  1 คู่ ไม่ควรเลี้ยงปลาเกิน 1 คู่ เพราะปลาเพศเมียจะค่อนข้างมีความดุร้าย ในการไล่ล่าลูกปลาที่พึ่งคลอดจากแม่ปลาตัวอื่น ใส่พันธุ์ไม้น้ำพวกสาหร่ายหรือจอกที่มีรากยาวๆลงในบ่อเพาะ เพื่อเป็นที่หลบซ่อนของลูกปลา เพราะเมื่อลูกปลาคลอดออกมาก็จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ตามสาหร่ายหรือรากของจอก ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกแม่ปลาจับกินได้ เป็นวิธีการเพาะที่ใช้ได้ผลดี และจะสามารถคัดปลาหางนกยูงทั้งเพศผู้และเพศเมียที่มีลักษณะดีตามที่ต้องการมาผสมกันได้ จากนั้นคอยหมั่นแยกลูกปลาที่ได้ออกไปอนุบาล  ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ต้องใช้พื้นที่มาก และค่อนข้างใช้เวลาในการดูแล
                7.2 แยกเฉพาะแม่ปลาที่ท้องแก่ใกล้คลอดมาจากบ่อเลี้ยง   เป็นวิธีการที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมากไว้ในบ่อเลี้ยง แล้วหมั่นสังเกตหาปลาที่มีท้องแก่ จากนั้นจึงแยกเฉพาะแม่ปลาที่มีท้องแก่คือมีท้องขยายใหญ่มากออกมาเพียงตัวเดียว นำไปใส่ในภาชนะเล็กๆที่มีช่องตาให้ลูกปลาลอดออกไปได้ คล้ายกับเป็นห้องรอคลอดซึ่งมีผลิตออกมาจำหน่ายโดยเฉพาะ แต่ค่อนข้างจะมีราคาแพง ซึ่งอาจใช้ภาชนะอื่นทดแทนได้ เช่น ใช้ตะกร้าแขวนสำหรับใส่แปรงสีฟันในห้องน้ำ โดยมักจะแขวนภาชนะนั้นจำนวนหลายอัน ไว้ในตู้กระจกหรือในกะละมังใบเดียวกัน แม่ปลาที่ถูกคัดออกมามักจะคลอดลูกภายใน 1 - 3 วัน ยิ่งเมื่อดำเนินการไปนานๆ แม่ปลาจะมีความเคยชิน ก็มักจะคลอดลูกภายใน 1 วัน หลังจากที่แยกมาปล่อยลงในที่สำหรับคลอดลูกปลาจะลอดช่องตาของภาชนะออกไปรวมกันในตู้หรือกะละมัง แยกลูกปลาไปอนุบาลแล้วนำแม่ปลาไปเลี้ยงพักฟื้น 3 วันจึงปล่อยกลับลงบ่อเลี้ยง จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีการที่ให้ผลดีที่สุดเพราะลูกปลามีอัตราการรอดมากที่สุดและทำได้ค่อนข้างสะดวก แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้กับฟาร์มผลิตขนาดใหญ่
.
        
   
ภาพที่ 8    ลักษณะของตะกร้าที่ใช้เป็นที่รอคลอด   และการวางตะกร้าในภาชนะขนาดเล็ก
                         ข  การแขวนตะกร้าหลายใบ     แม่ปลาก่อนคลอด     แม่ปลาหลังคลอด
.
  
ภาพที่ 9  แสดงลูกปลาที่ลอดช่องตาของตะกร้าออกไปอยู่ภายนอก
.
ภาพที่ 10  แสดงการพักแม่ปลารอคลอดในตะกร้าในต่างประเทศ
                                            ที่มา : Jcwong (2009)
.
ภาพที่ 11  แสดงการพักแม่ปลารอคลอดในตะกร้าในต่างประเทศ
                                             ที่มา : Fishbreeding101.webs.com (2009)
.
                7.3 แยกเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้   เป็นวิธีการที่คัดแยกพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงจำนวนมาก มาเลี้ยงในภาชนะที่มีช่องตาขนาดที่ลูกปลาจะรอดออกไปได้ แต่พ่อแม่ปลาจะไม่สามารถรอดออกไปได้   เป็นภาชนะขนาดปานกลาง เช่น กระชัง  ตะกร้า  หรือกระจาด ซึ่งจะนำไปกางหรือวางในภาชนะหรือบ่ออีกทีหนึ่ง กระชัง ตะกร้า หรือกระจาดนี้จะใช้เลี้ยงปลาได้ใบละ  5 - 7  คู่ ไปจนถึง 50 คู่ เมื่อแม่ปลาคลอด ลูกปลาจะสามารถว่ายหนีผ่านช่องตะกร้าออกไปสู่ภายนอก เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีเช่นกัน ปลาที่เลี้ยงอยู่ในตะกร้าแต่ละใบจะให้ลูกสัปดาห์ละ 1 ครอกเป็นอย่างน้อย ก็แยกลูกปลาออกไปอนุบาลได้ เป็นวิธีที่นิยมกระทำกันมากในฟาร์มที่ผลิตลูกปลาหางนกยูงเพื่อจำหน่าย โดยใช้ตะแกรงพลาสติกทำเป็นกระชังขนาดประมาณ 0.5 - 1 ตารางเมตรวางในบ่อซิเมนต์ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาหางนกยูงลงในกระชัง 20 - 30 คู่ ลูกปลาที่คลอดออกมาจะว่ายหนีออกจากกระชังได้ดี ทำให้สามารถผลิลูกปลาได้ค่อนข้างมาก  ข้อเสียของวิธีนี้  คือ เศษอาหารมักจะลงไปตกค้างอยู่ก้นภาชนะมาก  ทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่าย ต้องหมั่นทำความสะอาด
.
   
 ภาพที่ 12  ลักษณะการเพาะปลาหางนกยูงในฟาร์มขนาดใหญ่์ 
                                              โดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในกระชังที่กางในบ่อซิเมนต์
.
ภาพที่ 13  แสดงลักษณะการเพาะปลาหางนกยูงในกระชังที่กางในตู้กระจก
                                      ที่ม : Jabra (2012)
.
8 การอนุบาลลูกปลาหางนกยูง                   
                ลูกปลาที่แยกออกมาจากบ่อเพาะหรือแม่ปลาที่คลอดแล้ว นำมาเลี้ยงในภาชนะหรือบ่อขนาดปานกลาง มีความจุประมาณ 30 - 100 ลิตร ขึ้นกับจำนวนลูกปลา แล้วเลี้ยงด้วยอาหารผง (อาหารอนุบาลลูกปลาดุก)โดยให้บริเวณผิวน้ำ ลูกปลาจะสามารถกินอาหารผงได้เป็นอย่างดี เพราะปลาหางนกยูงเป็นปลาที่กินอาหารได้ง่าย หมั่นทำความสะอาดก้นบ่อและถ่ายน้ำเสมอๆเช่นเดียวกับบ่ออนุบาลลูกปลาทอง เพื่อเร่งให้ลูกปลาเจริญเติบโตเร็ว จะเลี้ยงด้วยอาหารผงประมาณ 15 วัน ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้นจนสามารถนำไปปล่อยเลี้ยงรวมกับปลาขนาดใหญ่ในบ่อเลี้ยงได้อย่างปลอดภัย
.
9 การเลี้ยงปลาหางนกยูง                  
                การเลี้ยงปลาหางนกยูงนับเป็นเรื่องง่ายมาก ปลาหางนกยูงจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อ หากผู้เลี้ยงหมั่นทำความสะอาดบ่อเลี้ยง ไล่เศษอาหารที่ตกค้างออกจากบ่ออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจกระทำทุก 2 - 3 วัน ต่อครั้งก็เป็นการเพียงพอ สำหรับผู้เลี้ยงทั่วไปที่เลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก ควรใช้อาหารปลาสวยงามที่จำหน่ายตามร้านขายปลาสวยงาม โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอาหารเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีราคาไม่แพงมากนักก็จะใช้เลี้ยงปลาได้ดี เพราะปลาหางนกยูงกินอาหารได้ง่ายและเจริญเติบโตได้ดี โดยควรให้อาหารวันละ  2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น ส่วนผู้ที่เลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อเพาะพันธุ์ปลาออกจำหน่าย จำเป็นต้องเลี้ยงปลาเป็นจำนวนมาก จะต้องพยายามลดต้นทุนการผลิต อาจเลือกใช้อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงปลาดุกเล็ก ซึ่งมีราคาถูกและมีธาตุอาหารครบถ้วน นำมาใช้สำหรับเลี้ยงปลาก็จะทำให้ปลาเจริญเติบโตได้อย่างดี จะใช้เวลาเลี้ยงปลาประมาณ  45 - 60 วัน ก็สามารถส่งจำหน่ายได้
.
ภาพที่ 14  ลักษณะการเลี้ยงปลาหางนกยูงในประเทศมาเลเซีย
                                             ี่มา CPSguppyfarm.com (2009)
10 ปัญหาการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง                    
                ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง คือ ลูกปลาที่ได้มามีลักษณะไม่ตรงตามต้องการหรือมีลักษณะไม่เหมือนกับพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้เพาะ แต่มักจะมีลักษณะด้อยกว่าพ่อแม่ปลา คือมีความสวยงามไม่เท่าพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ  คือ
                10.1 พ่อแม่พันธุ์ที่นำมาใช้เพาะอาจเป็นปลาครอกเดียวกัน  การนำปลาเลือดชิดมาผสมกัน ลูกปลาที่ได้จะแสดงลักษณะด้อยออกมามากขึ้น จึงทำให้ลูกปลามีลักษณะไม่สวยงามเท่าพ่อแม่พันธุ์
                10.2 ปลาเพศเมียที่คัดแยกมาเพาะอาจได้รับน้ำเชื้อจากปลาเพศผู้ตัวอื่นมาแล้ว   เพราะในขณะที่ปลาตั้งท้อง ถึงแม้ว่าปลาจะได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้แล้ว แต่ปลาเพศผู้ตัวอื่นๆก็จะมาผสมกับแม่ปลาไปเรื่อยๆ น้ำเชื้อที่ถูกส่งเข้ามาในรังไข่ใหม่นี้จะตกค้างและมีชีวิตอยู่ได้นาน เมื่อปลาคลอดลูกออกไปแล้วไข่ที่เจริญมาใหม่ก็จะถูกผสมโดยน้ำเชื้อที่ตกค้างอยู่เหล่านี้ ทำให้แม่ปลาดังกล่าวไม่ได้รับการผสมกับปลาเพศผู้ที่คัดมา ดังนั้นเมื่อแม่ปลาคลอดลูกแล้วอาจต้องเลี้ยงแยกไว้ ปล่อยให้คลอดลูกอีกครอกซะก่อน จึงค่อยนำไปผสมกับปลาเพศผู้ที่คัดไว้
                   10.3 ขาดการดูแล  ลูกปลาที่เกิดขึ้นได้รับการดูแลเอาใจใส่ไม่ดีพอ อาจได้รับอาหารไม่สมบูรณ์หรือไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ปลามีความแคระแกรนรูปทรงไม่สวยงามได้
.
11 ชนิดปลาที่ดำเนินการเพาะพันธุ์เช่นเดียวกับปลาหางนกยูง             
                มีปลาสวยงามอีกหลายชนิด ที่สามารถดำเนินการเพาะพันธุ์เช่นเดียวกับการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูงทุกประการ เนื่องจากเป็นกลุ่มปลาขนาดเล็กและเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน  ได้แก่ ปลาสอด  ปลาหางดาบ   ปลาเซลฟิน  ปลาบอลลูน และปลาเข็ม โดยอาจเพิ่มความระมัดระวังเรื่องการกระโดดของปลาออกจากภาชนะ   เนื่องจากปลาเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาหางนกยูงเล็กน้อย  และชอบกระโดดมากกว่าปลาหางนกยูง ดังนั้นภาชนะที่ใช้คัดแยกพ่อแม่ปลาออกมาเลี้ยง หรือคัดแม่ปลาออกมารอคลอด ควรมีขนาดใหญ่และสูงกว่าที่ใช้กับปลาหางนกยูง หรืออาจทำฝาปิดก็ได้
.
  
ภาพที่ 15 ลักษณะการเพาะปลาสอดโดยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในลังพลาสติคที่วางในบ่อซิเมนต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น