วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมา เป็นไป ของครอสบรีดในประเทศไทย



  •        ถึงตอนนี้ แล้ว กระแส ครอสบรีด ใน บ้านเรา ก็ยัง คงแรง ไม่ตก จากกระแสความนิยม จากสายพันธุ์ สู่อีก สายพันธุ์ ซึ่ง ว่ากัน ไปแล้ว การ ที่ มีปลาครอสบรีด ชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้น ในบ้านเรา นั้น ก็นับว่าเป็น การเพิ่มตัวเลือก และ สีสัน ให้กับวงการปลาสวยงาม ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมี บางมุมมอง ที่ว่า ปลาครอสบรีด คือ ฮีโร่ในด้านมืด ที่บ่อนทำลาย ความบริสุทธ์ของปลาหมอสีสายพันธุ์แท้ๆ รวมทั้ง อาจเป็น ปัญหา ต่อ ระบบ นิเวศน์ของ ปลาน้ำจืด พื้นเมืองของไทย เราเอง
  • เราคง จะไม่พูดถึง ข้อถกเถียง ดังกล่าว เพราะ ทุกจุดยืน ของความคิดเห็น ย่อมมี เหตุผล ที่ สนับสนุน ความคิดดังกล่าว แต่ วัตถุประสงค์ ของ ไฮไลท์ตอนนี้ เพื่อให้ เพื่อนๆ ที่สนใจ ในปลาครอสบรีด ได้ทราบ ถึง ข้อมูล ความเป็น ไป ของแต่ละสายพันธุ์ ที่ กำลังได้รับความนิยม จากมุมมอง และ ประสบการณ์ ของ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่คลุกคลี กับการเพาะเลี้ยง ปลาเหล่า นี้ ไว้เป็นแนวทาง ใน การตัดสินใจ หรือ ศึกษา หาความรู้ เกี่ยวกับ สายพันธุ์ นั้นๆ
  • กระแสปลาครอสบรีด ในบ้านเรา ถ้าผมจำไม่ผิด ก็ หลัง ยุค Frontosa Fever เมื่อประมาณ ราวๆ ปี 44 ที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก ปลา Flowerhorn และ Pearl Horn ได้ ถูกแนะนำเข้าสู่ตลาดในบ้านเรา ผ่าน โปสเตอร์ รูปภาพ สายพันธุ์ต่างๆ ด้วย ชื่อ เรียก แปลก และ แตกต่าง บนพื้นฐานของความเชื่อ ที่ว่า ปลาตัวนี้ ช่วยเสริมสร้าง ความเป็น สิริมงคลให้กับผู้เลี้ยง จึงทำให้ปลาสวยงาม นามว่า Flower Horn และ สายพันธุ์ ครอสบรีดใหม่ๆ ติดลม บน ตลาดเมืองไทย ด้วย ค่าตัวแสนแพง ตั้งแต่นั้นมา 
    http://pitty1234.tripod.com/FISH/line4.gif

  • ประวัติที่มาที่ไป ของปลาในกลุ่ม Louhan
  • หากจะกล่าวถึงต้นกำเนิด ของปลาฮัวหลอฮั่น หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า FlowerHorn นั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ขณะที่ชาวไต้หวันได้ทำการเปิดตลาดปลาตัวใหม่ ปลาหมอนกแก้ว (Blood Parrot) ซึ่งเป็นปลาที่เพาะขึ้น โดยการผสมข้าม สายพันธุ์ระหว่างปลาหมอสีสายพันธุ์ใหญ่จากอเมริกาไต้ แต่ต้นกำเนิดและชนิดสายพันธุ์ ที่นำมาผสมเป็นปลานกแก้ว ยังเป็นความลับอยู่ ในขณะนั้น
  • หลังจากที่ปลาหมอนกแก้วเปิดตัวได้ไม่นาน นักเพาะปลาชาวมาเลย์เห็นว่าปลาหมอนกแก้วได้รับความยอมรับเป็นอย่างดี จากตลาดปลาสวยงามทั่วโลก จึงได้คิดที่จะเพาะปลานกแก้วขึ้นมาเพื่อแย่งส่วนแบ่ง ทางการตลาดส่งออกของไต้หวัน แต่ด้วยข้อมูลที่มีเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับปลานกแก้ว ชาวมาเลย์รู้เพียงว่าปลานกแก้วเป็นปลาผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างปลาหมอสีอเมริกาไต้ จึงได้ทำการทดลองนำปลาหลายๆ สายพันธุ์มาผสมข้ามกัน เพื่อหวังว่าจะทำปลานกแก้วสำเร็จ แต่แล้วพวกเค้าก็ต้องแปลกใจ เมื่อลูกปลาที่ผสมออกมาได้นั้น มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก หลังจากทำการทดลองผสมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ปลาที่ผสมออกมาเริ่มโตขึ้น และมีความสวยงามและแปลกตาไป จากปลาสายพันธุ์เดิมๆ ผู้เพาะพันธุ์ปลากลุ่มนั้น จึงได้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะเพาะปลาออกมาตามสไตล์ ที่พวกเค้าต้องการ นี่จึงเป็นที่มาของปลาหลอฮั่น หรือ ปลาในตระกูล Horn ที่เรารู้จัก ดีในปัจจุบัน
  • หลอฮั่นในยุคแรก จากการที่ต้องการผสมปลานกแก้ว ตามแบบชาวไต้หวัน แต่กลับได้ ปลาที่มีความแตกต่างไปจากปลานกแก้วและ ปลาสายพันธุ์เดิมอย่าง สิ้นเชิง จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้ผู้เพาะปลา พยายามพัฒนาปลาให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ปลาหลอฮั่นในยุคแรกจะมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลำตัวหนาและใหญ่ หัวโหนก ตาสีแดง ครีบและหางกางใหญ่ ลำตัวจะมีสีโทนเหลืองทองถึงเขียวมุก มีมาร์คกิ้งหรือลายสีดำข้างลำตัวคล้ายๆ ตัวหนังสือ และมีสีแดงที่คอและจะลามขึ้นไปจนถึงหลัง และเนื่องด้วยข้างตัวของปลามีมาร์คกิ้งเป็นลายสีดำคล้ายๆ กับตัวหนังสือภาษาจีน (บางตัวสามารถอ่านได้อย่างชัดเจน หากเป็นคำมงคล ปลาตัวนั้นๆ จะสามารถขายได้ในราคาสูงๆ) จึงทำให้ปลาตัวนี้เป็นที่นิยม ในหมู่นักเลี้ยงปลาชาวจีนเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าปลาชนิดนี้สามารถเสริมดวงชะตา และโชคลาภให้แก่ผู้เป็นเจ้าของได้ และประกอบกับที่ปลาตัวนี้จะมีหัวที่โหนกคล้ายๆ กับ เทพจ้าวแห่งความสุข (ฮก ลก ซิ่ว) จึงได้ตั้งชื่อให้กับปลาตัวนี้ว่า ปลาหลอฮั่น (อรหันต์)
  • · 




(
ปลาหมอนกแก้ว)

หลอฮั่นยุคแรก ลำตัวจะมีสีโทนเหลือง

  • ชนิดของปลาหลอฮั่น
หลังจากที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมของคนในประเทศ ทำให้ตลาดของปลาหลอฮั่นนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ ในขณะนั้นในประเทศมาเลเซียได้มีผู้ส่งออกซึ่งเป็นฟาร์มปลาหลักๆ อยู่ 2 ฟาร์ม ก็คือ Meng Aquarium Centre และ Nanyang Fish Farm (M) SDN. BHD. โดยทางผู้บริหารของฟาร์ม Meng ก็คือ Mr.Terence Jiam ได้เล็งเห็นว่า ชาวเอเชีย มีความสนใจในปลาตัวนี้มาก จึงได้ทำการส่งปลาชนิดนี้ไปขายในหลายประเทศอาทิเช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ใต้หวัน สิงค์โป ไทย อินโดนิเซีย และ ฟิลิปินส์ แต่เนื่องด้วยความหลายหลายทางภาษา Mr.Terence เกรงว่า ผู้คนจะเรียกชื่อ หลอฮั่นไม่ติดปากเพราะเป็นภาษาจีน เค้าจึงได้คิดชื่อปลาขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการง่ายต่อคนท้องถิ่น โดยดูจากจุดเด่นของปลาอยู่ที่มีหัวโหนก มาร์คกิ้งชัดเจน ตามลำตัวมีสีและลวดลายที่สวยงาม จึงเป็นที่มาของชื่อปลา Flower Horn ส่วนทางฟาร์ม Nanyang ก็ได้ตั้งชื่อปลาตามเอกลัษณ์ของปลาทางฟาร์มเช่นกัน คือเป็นปลาที่มีหัวโหนกใหญ่ และจะมีมุกเป็นประกายตามลำตัว จึงเป็นที่มาของปลาที่ชื่อ Pearl Horn ส่วนชื่อของปลาแต่ละตัวนั้นก็ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยคทางการค้าและง่ายต่อการบ่งชี้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาจากปลาตัวไหนเท่านั้น
  • สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ
1. ทรงปลา ในการเลือกซื้อควรคำนึงถึงรูปทรงปลาเป็นหลัก ทรงปลาต้องสมส่วน ท่าทีในการว่ายสง่างาม ปลาต้องไม่มีตำหนิ เช่น ครีบหักงอ ปากหน้าเบี้ยว
2. สีสรรต้องสดใส ไม่หมองคล้ำ ความแดงของสีปลาขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็นหลัก แดงคลุมหน้าได้จะดีที่สุด ปลาต้องร่าเริง เล่นกะมือ เพื่อป้องกันการซื้อปลาเป็นโรคกลับมาเลี้ยง
3. ถ้าเป็นปลาตระกูลหัวโหนก ต้องมีโหนกเห็นอย่างชัดเจน มีสีแดงคลุมโหนกก็จะดีอย่างมาก
4. ถ้าเป็นปลามุก ต้องมีมุกที่สวยงาม สะท้อนกับแสงแล้วแพรวพราว มุกต้องขึ้นถึงหน้าถึงจะดี
5. ถ้าเป็นปลามาร์ก ต้องมีมาร์กที่ชัดเจน สวยงามไม่เลอะเลือน
  • การเลี้ยงดู Louhan
1.    ควรรักษาสถาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ควรเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละ สองครั้ง
2.    อาการควรให้อาหารสดสลับกับอาหารเม็ดที่มีไฟเบอร์ผสม
3.    พื้นหิน ควรเป็นหินแม่น้ำสีน้ำตาล จะช่วยให้ปลาขับสีได้ดีขึ้น
4.    เพื่อให้ปลามีความกระตือรือล้นอยู่เสมอ ควรหาปลาอื่นมาเทียบข้างๆ อยู่เสมอ
5.    ควรมีพื่นที่เพียงพอในการเลี้ยงดู เพราะปลาเหล่านี้ถ้ามีที่ว่ายมากเท่าไหร่ ก็จะพัฒนาเร็วกว่าปลาที่อยู่ในที่จำกัด

http://pitty1234.tripod.com/FISH/line4.gif

·  ประวัติที่มาที่ไป ไตรทอง
ท่ามกลางกระแสครอสบรีดที่รุนแรง หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เคยมีปลาหมอสีครอสบรีดอีกชนิดหนึ่ง ที่ได้เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งอันใหญ่ของคนไทย ที่ทำให้ต่างประเทศได้รับรู้ว่า ประเทศของเราก็มีนักเพาะพันธุ์ปลาที่มีฝีมือ สามารถเพาะพันธุ์ปลาหมอครอสบรีดให้มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวได้เหมือนกัน ปลาหมอสีครอสบรีดตัวนั้น มีชื่อว่า "ไตรทอง"
"ลุงหวัด" นักเพาะพันธุ์ปลาท่านหนึ่ง ซึ่งคนในวงการปลาสวยงามรู้จักกันดี และมีชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ให้กำเนิด เจ้าปลาหมอสี "ไตรทอง" ได้ทำการผสมไตรทองสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2542 ในเวลาต่อมาคือ ช่วงต้นปี 2543 เริ่มมีคนรู้จักปลาชนิดใหม่นี้ และให้ความสนใจ ไตรทองเป็นจำนวนมาก จนไตรทองเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจากในประเทศ หรือ ต่างประเทศ ไตรทอง หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ไตรมาคูทอง (Golden Trimaculatus) มีต้นกำเนิดจากปลาหมอพันธุ์ ไตรมาคู ซึ่งเป็นปลาที่นำเข้ามาจากทวีปอเมริกา
โดยช่วงนั้นลุงหวัดยังเพาะปลาหมอชนิดนี้อยู่ และพบว่ามีปลาหมอ ไตรมาคู 2 ตัว ที่เพาะได้มีการผ่าเหล่า ผิดปกติไปจากปลาในครอกทั่ว ๆ ไป คือมีลักษณะการลอกสี จากปลาพื้นสีดำ กลายเป็นปลาพื้นสีเหลือง และช่วงคอแดง โดยบังเอิญปลาผ่าเหล่า 2 ตัวนั้น เป็นตัวผู้ และ ตัวเมียอย่างละตัวพอดี ลุงหวัดจึงได้ลองทำการเพาะพันธุ์และพัฒนาปลาชนิดนี้ต่อไป จนความสวยงามเป็นที่ยอมรับ และเกิดความต้องการอย่างมากของนักเลี้ยงปลาในท้องตลาด


Trimaculatas แท้ๆ หน้าตาเป็นอย่างนี้


  • รูปแบบของไตรทอง
หลังจากไตรทองเริ่มเปิดตัวจนเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการปลาสวยงาม ด้วยลักษณะความสวยงามโดดเด่นเฉพาะตัว คือ ผิวปลามีเนื้อสีเหลืองทอง เรียบเนียน ลักษณะเกล็ดเรียงกันเป็นระเบียบ ลำตัวกว้าง หนา โครงหน้าใหญ่ ครีบหาง ครีบท้อง ครีบหลัง มีขนาดใหญ่ และพริ้วไหวดูสวยงามเวลาว่ายน้ำ บริเวณหน้า และ ลำคอมีสีแดงสด ซึ่งสีแดงสดเมื่อตัดกับสีผิวที่เหลืองอร่าม จะทำปลาดูสวยงามมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับนักเลี้ยงปลาบางคนที่มีความเชื่อว่า สีแดง และ สีทอง เป็นสีมงคล ยิ่งทำให้ปลาไตรทองได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น นักเพาะพันธุ์หลาย ๆ คน ได้พยายามพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปอีก โดยนำมาครอสผ่านกับปลาสายอื่น ๆ เพื่อเพิ่มลักษณะเด่นของไตรทองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น พัฒนาเนื้อให้เป็นลายตาข่าย มีมุกกระจายทั่วตัว และ เพิ่มหัวให้มีความโหนกมากขึ้น หรือ ปัจจุบันได้มีการผสมไตรทอง ให้มีรูปทรงที่มีลักษณะที่แปลกออกไปจากที่เคยมี เช่น นกแก้วไตรทอง




  • สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ
1. ดูจากลักษณะรูปทรงของปลา นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่นิยมปลาทรงสั้น ลำตัวกว้างและหนา หากได้ตัวที่มีลักษณะหัวโหนกจะยิ่งดีมาก ช่วงหน้า นิยมปลาหน้าสั้น ๆ ไม่ดูแหลมและยาว หากมีโหนกจะยิ่งดีมาก ปาก ไม่ควรเลือกปลาปากแหว่ง บิดเบี้ยว หรือ มีลักษณะผิดรูป
2. ดูรายละเอียดที่ตัวปลา เช่น ดวงตา มีสีแดงสดใส แวววาว ไม่หม่น หรือ ขุ่น ครีบต่าง ๆ ในตัวปลา เช่น ครีบหลัง ครีบหาง ครีบท้อง ฯลฯ มีลวดลายสวยงาม และไม่บิดเบี้ยว หงิกงอ และควรเลือกปลาที่มีขนาดครีบเหมาะสมกับขนาดตัว ไม่ควรเลือกปลาที่มีครีบเล็กเกินไป หรือ หางตก เกล็ด เรียงกันเป็นระเบียบ ไม่ซ้อนทับกัน ควรเลือกเนื้อเกล็ดที่ดูเรียบ ๆ ละเอียด ๆ จะดูสวยกว่าปลาที่มีผิวหยาบ และกระดำกระด่าง
3. สำหรับ ไตรทอง จะมีความสวยเมื่อลอกแล้ว ไตรทองที่ลอกเร็วตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ มักมีโอกาสติดขาว ( ลักษณะสีขาวด่าง ๆ ) สูงกว่าไตรทองที่ลอกเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงควรเลือกปลาที่มีขนาด 3-5 นิ้ว ขึ้นไป ที่ลอกแล้ว และเห็นสีสันชัดเจน ลักษณะเนื้อสีของไตรทองที่สวยงาม ควรมีลักษณะเนื้อเหลือง ดูสดใส ไม่เหลืองซีด หรือออกเป็นสีขาว สีแดงที่ข้างคอชัดเจน และควรจะแดงข้ามหลัง ขอบสีแดงที่ข้างลำตัวควรเป็นแนวตัดเส้นตรง หรือเฉียงชัดเจน การกระจายตัวของสีไม่เลอะเทอะ หากสีแดงปิดคลุมหน้าจนหมด ยิ่งถือว่าเป็นปลาที่มีลักษณะดีมาก
4. ควรดูความสวย และ คุณภาพของปลา ที่ลักษณะปลาเป็นหลัก ไม่ควรเลือกซื้อโดยมองที่ราคา ปลาราคาสูง อาจไม่ใช่ปลาที่สวยเสมอไป
  • การเลี้ยงดู ไตรทอง
1.    ควรแยกเลี้ยงเดี่ยว เพราะ ไตรทอง นิสัยพื้นฐานเหมือนปลาหมอสีทั่ว ๆ ไป คือ มีความดุร้าย เกเร และ หวงถิ่นมาก หากเลี้ยงรวมกับปลาตัวอื่นที่เล็กกว่าตัวมัน มันมักจะทำร้ายปลาอื่นเสมอ หรือ หากเลี้ยงกับปลาหมอสีด้วยกัน ก็จะทำร้ายกันจนครีบฉีก หางขาด เกล็ดหลุด เกิดบาดแผล อาจจะถึงตายได้
2.    รักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ อาจจะทำการติดระบบกรองเพื่อให้น้ำสะอาด เพราะน้ำที่สะอาด จะมีอ๊อกซิเจนในน้ำสูง มีสารพิษและเชื้อโรคในน้ำน้อยกว่าน้ำที่สกปรก ทำให้ปลาขับเมือกได้ดี สดชื่น กินเก่ง โตเร็ว แข็งแรง และ สุขภาพดี
3.    ขนาดตู้ ควรใช้ตู้ขนาดประมาณ 30-36 นิ้วขึ้นไป หากเลี้ยงในตู้ที่เล็กเกินไป ปลาจะโตช้า อึดอัด และ เครียด
4.    การจัดตู้ควรใช้หินแม่น้ำสีเข้ม เช่น หินโทน ส้ม น้ำตาล และปิดสติ๊กเกอร์เป็นฉากสีเข้ม เช่น ดำ หรือ น้ำเงิน การจัดตู้สีโทมเข้ม จะทำให้ปลาขับสีเข้มขึ้นตามสิ่งแวดล้อม เป็นการเน้นสีตัวปลาให้สวยขึ้น
5.    การให้อาหารสำหรับลูกปลาเล็ก ๆ ควรให้ไรน้ำจืด หรือ ไส้เดือนน้ำ เพราะลูกปลาสามารถกินได้ง่าย เมื่อมีขนาดประมาณ 1.5-2 นิ้ว เริ่มเปลี่ยนมาให้ไรทะเล และหากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ประมาณ 3-5 นิ้ว อาจจะเริ่มฝึกให้กินอาหารเม็ด กุ้งฝอย หนอนแดง หรือ หนอนนก ได้แล้ว
6.    ไม่ควรให้อาหารเร่งสีปลา เพราะ อาหารเร่งสีมักมีส่วนผสมของฮอร์โมน อาจจะทำให้ปลามีสีที่ออกดำคล้ำ ดุร้าย และมีโอกาสเป็นมะเร็งได้สูง รวมถึงยังทำให้ปลาเป็นหมันได้อีกด้วย หากต้องการเร่งสีปลา ควรให้อาหารที่มีสารเร่งสีตามธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลา เช่น อาหารเม็ดโปรตีนสูงผสมสาหร่ายสไปลูริน่า หรือ คาโรฟิลล์พิ้งค์
7.    ไม่ควรใส่ต้นไม้น้ำลงไปประดับตกแต่ง เพราะ ไตรทอง มีนิสัยชอบจัดบ้านเอง ปลาจะ ขุด รื้อ แทะ จนต้นไม้ที่ตกแต่งเสียหายได้ การตกแต่งทั่วไปคือ ใส่หินเล็ก ๆ ปูพื้นตู้ไว้เพื่อให้ปลาได้ ทำการจัดบ้านเองโดยการ ขุดหิน และ อม ๆ บ้วน ๆ หิน เป็นการคลายเครียด

http://pitty1234.tripod.com/FISH/line4.gif

  • ประวัติที่มาที่ไป เท็กซัสแดง
จากเรื่องราวของเท็กซัสแดง อย่างที่เพื่อนๆๆรู้กันน่ะครับ ว่าเท็กซัสแดงเกิดจากการนำ เท็กซัสเขียว มาผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาเพศเมียที่มีลักษณะสีแดงเข้ม อาทิ นกแก้ว, คิงคอง, ซินแดง, ไตรทอง, เรดเดวิล, ซุปเปอร์เรดซิน ทำให้ลูกที่ออกมา มีลักษณะเด่น มีมุกสวยงาม ซึ่งได้มาจากตัวพ่อ และสีสันสดใสซึ่งได้มาจากตัวแม่
  • ประเภท ของ เท็กซัสแดง

เท็กซัสแดง ที่ลอกเกลี้ยง จุดกลมใหญ่

อีกแบบ ดอกขาวเล็กๆ เป็นจุดๆ

ลอกเกือบเกลี้ยง ติดดำ ที่ครีบ
  • สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ
1.ควรเลือกซื้อเทกซัสแดงที่มีขนาดไม่เกินสามนิ้ว เนื่องจากโอกาสที่จะได้เทกซัสแดงที่มีมุกและสีสดใสจะมากกว่าปลาที่มีขนาดใหญ่แล้ว
2.ในการเลือกซื้อถ้าสามารถเห็นพ่อแม่ปลา จะง่ายต่อการตัดสินใจมากขึ้น พ่อปลาถ้ามีลักษณะเด่น เช่น หัวโหนก มุกเรียงสวย ลูกที่เกิดมาย่อมจะมีโอกาส ได้รับลักษณะเด่นดังกล่าว ส่วนตัวแม่ควร จะเป็นปลาที่ให้สีไว ไม่ควรเป็นปลาลอกช้า ดังนั้นก่อนเลือกซื้อควรสอบถามจากผู้ขายถ้าสามารถทำได้
3. สีของเทกซัสแดง ควรสอบถามจากผู้ขาย ถึงสีของตัวเมียที่นำมาข้ามสายพันธุ์ว่าเป็นสีใด เช่น เหลือง แดง สีอิฐ เป็นต้น เพื่อเวลาได้ปลาตามที่เราต้องการแล้วโอกาสที่จะได้สีเหมือนตัวแม่จะค่อนข้างมาก
  • การเลี้ยงดู เท็กซัสแดง
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า เทกซัสแดงเป็นปลาที่โตช้า พอสมควร อาจเนื่องมาจากเทกซัสเขียวเป็นปลาที่โตช้าอยู่แล้ว การลอกสีผิว ของปลา พบว่า สามารถผันผวนได้ตลอดเวลา สีสามารถแดงขึ้นหรือซีดลงแล้วแต่อารมณ์ของปลา ส่วนมุกตามตัวปลาจะเกิดช้าลงหลังจากที่ปลาเริ่มมีขนาดใหญ่แล้ว
ดังนั้นการเลือกซื้อปลาควรอย่าให้ปลามีขนาดเกิน 6 นิ้ว ในกรณีที่ยังไม่เห็นมุกและการลอกของปลาอย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นปลาที่โตช้า เทกซัสแดงในระยะเริ่มแรกของการเลี้ยงดูควรจะเลี้ยงรวมกันไปก่อน พอจวบจนได้ขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป ถึงจะเอามาใส่ตู้ฟอร์มเดี่ยว การดูแลควรให้อาหารสดสลับกับอาหารเม็ด และเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ปลาสดใสแข็งแรงอยู่เสมอ
โรคที่พบบ่อยในเทกซัสแดง นอกเหนือจากโรคปลาปกติโดยทั่วไป โรคหัวเป็นรู (Hole in the head) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เทกซัสแดงเสียชีวิตลงอย่างมากมาย สาเหตุเกิดจากคุณภาพน้ำ ที่ใช้เลี้ยงดูมีเชื้อโรคเจือปน อยู่เกินกว่าที่ปลาจะทนได้ ที่หัวปลาจะมีรูคล้ายๆ โดนเข็มทิ่มแทง เป็นรูจำนวนมากมาย ถ้าไม่รีบทำการรักษา อาจจะเสียชีวิตลงได้ ในการรักษา ให้ใช้ Metrodinazole ขนาด 250 มก. ต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ลงไปในน้ำ ประมาณ 7 วัน งดอาหารสดทุกชนิด 
http://pitty1234.tripod.com/FISH/line4.gif

  • ประวัติที่มาที่ไป ปลาซินแดง
ซินแดง เป็นปลาหมอสีครอสบรีดอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นจาก ฝีมือนักเพาะพันธุ์ปลาหมอสีชาวไทยเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ซินแดง เป็นปลาหมอสีที่นำมาข้ามสายพันธุ์โดยใช้ ซินสไปลุ่ม ผสมเข้ากับ เรดเดวิล โดยที่ปลาทั้งสองชนิดนี้ เป็นสายพันธุ์ปลาหมอขนาดใหญ่ทั้งคู่
การผสมจะเลือกพ่อพันธุ์เป็นซินสไปลุ่ม + แม่พันธุ์ เป็นเรดเดวิล หรือ พ่อเป็นเรดเดวิล + แม่เป็นซินสไปลุ่มอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งลูกปลาที่ออกมาใน 1 ครอก จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่หลากหลายชนิด เช่น ซินแดง นกแก้ว และ คิงคอง ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับพ่อแม่พันธุ์ ว่าจะให้ลูกปลาออกมาในลักษณะใดมากกว่ากัน ซึ่งลูกปลาที่ได้ออกมานั้นมีทั้งชนิดลอก และไม่ลอก
ปัจจุบัน ซินแดงได้รับความนิยมมากขึ้นจากนักเลี้ยงปลาสวยงาม ในขณะเดียวกันนักเพาะพันธุ์ปลาหมอสีครอสบรีด ยังได้มีการพัฒนาปลาหมอสีตระกูลซินแดงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ ซินแดงตัวผู้ (ที่มีเชื้อ) มาผสม กับ ซินแดงตัวเมีย / นกแก้ว หรือ คิงคอง ดังนั้นลูกปลา ที่ออกมาในระยะหลัง จึงมีโอกาสที่จะได้ลูกปลาซินแดง ที่ค่อนข้างนิ่งและลอกเร็วกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ ผู้เพาะปลาครอสบรีดบางราย ยังได้นำซินแดงตัวเมียไปเข้ากับปลาหมอเท็กซัส หรือปลาครอสบรีดอื่นๆ เพื่อที่จะได้ ลูกปลาที่มีรูปทรงสวยงาม และเป็นที่นิยมต่อตลาดปลาโดยทั่วไป


  • รูปแบบของซินแดง

เนื้อชมพู ซินแดงสายดั้งเดิม

เนื้อออกส้ม กำลังลอกอยู่

ซินแดง ที่ลอกเกลี้ยง
  • สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ
ปลาซินแดง เป็นปลา ที่ไม่มีมาร์คกิ้งหรือมุกแบบ ฟาวเวอร์ฮอร์น การเลือกซื้อจึงมีเกณฑ์การเลือกคร่าวๆ ดังนี้
รูปทรง ต้องออกเป็นตัวเหลี่ยมๆ ตามลักษณะปลาสายพันธุ์ซินสไปลุ่ม
สี ที่ได้รับความนิยม คือ สีแดง ส้ม ชมพู ซึ่งหากสีปลาตัวไหน ยิ่งเข้ม ยิ่งจะมีราคาสูงขึ้นตามลำดับ
โหนก ควรเลือกดูให้ดี ตั้งแต่ปลามีขนาดเล็ก ดูว่าพอมีสันโหนกหรือไม่ ซึ่งควรจะต้องสังเกตบ้าง
การลอก สังเกตดูให้ดี การลอกของปลาแต่ละตัวนั้น ใช้ระยะเวลาที่ไม่ตายตัว บางตัวลอกแต่เล็ก บางตัวลอกตอนขนาดประมาณ 4นิ้วขึ้นไป ซึ่งการเลือกซื้อควรถามจากร้านค้า ว่าใช้พ่อแม่พันธุ์ มาจากปลาอะไร ถ้าพ่อแม่เป็นซินแดง จะมีโอกาสลอกค่อนข้างสูงตามที่กล่าวมาข้างต้น
  • การเลี้ยงดูซินแดง
ตอนเล็กๆ เราสามารถเลี้ยงรวมกันได้ แต่เมื่อลูกปลาโตขึ้นขนาดประมาณ สามนิ้ว ควรนำมาแยกเลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากปลาซินแดงนั้น มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย สำหรับอาหารที่ให้ หากเป็นอาหารเม็ด ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างสูง เนื่องจากซินแดง เป็นปลาหมอสายพันธุ์ใหญ่ และมีหัวที่โหนก จึงต้องการอาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างมาก ส่วนอาหารสด อาจให้กุ้ง หนอนแดง หนอนนก เป็นอาหาร และควรให้สลับกับอาหารเม็ดเป็นครั้งคราว

http://pitty1234.tripod.com/FISH/line4.gif

·  ประวัติที่มาที่ไป ปลาซุปเปอร์เรดซิน
ซุปเปอร์เรดซิน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ซุปซิน เป็นปลาหมอสีครอสบรีดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากกระแสเท็กซัสแดงได้ตกลงไป ปลาซุปซินได้ถือกำเนิดประมาณ เมื่อสองปีก่อน แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากกระแสปลาหล่อฮั้น นำเข้าในช่วงนั้นมาแรงมาก เจ้าซุปเปอร์เรดซิน เกิดมาด้วยความตั้งใจ หรือ ความบังเอิญนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด จากการอ้างอิงของสื่อต่างๆ บางแห่งระบุว่าเป็นปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่าง ฮาร์ทเวจิ + เรดเดวิล / ฮาร์ทเวจิ + คิงคอง / ฮาร์ทเวจิ + ซุปเปอร์เรดซิน / ซินสไปลุ่ม + เรดซิน หรือ ซินสไปลุ่ม + ซุปเปอร์เรดซิน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่ เป็นปลาที่สามารถทำออกมาเป็นซุปเปอร์ เรดซินได้ทั้งหมด แต่ยังคงเป็นปลา เปอร์เซ็นต์ หรือยังมีความไม่นิ่งเท่าที่ควร ลูกปลาบางคู่โตมา ลักษณะผิวกลายเป็นผิวฮาร์ท บางตัวโตมาไม่โหนก ไม่แดง ซึ่งลักษณะแบบนี้ พบเห็นได้ทั่วไปในตลาด สำหรับนักเพาะมือสมัครเล่น
แต่ในกลุ่มผู้เพาะมืออาชีพสามารถทำปลาซุปเปอร์เรดซินออกมาค่อนข้างนิ่ง เป็นลูกซุปเปอร์เรดซิน ที่มีผิวสวย เรียบ เนียน มีความแดง และโหนก ซึ่งพ่อแม่ปลาทุกวันนี้ยังคงเป็นปริศนาอยู่ เท่าที่ทราบจากบางแหล่งแหล่งข้อมูล พ่อแม่เป็นปลาหมอสีครอสบรีด ที่ครอสผ่านมาหลายชั้น มีทั้งเรดเดวิล ซินสไปลุ่ม และอื่นๆ บ้างก็ว่า ครอสมาสี่ชั้น ห้า ชั้น หรือ บางคนบอกว่าซุปซินแท้ๆ อาจไม่มีเลือดฮาทเวจิ อยู่เลยก็ได้ ปัจจุบันนี้ ซุปเปอร์เรดซิน ได้พัฒนาจนก้าวขึ้นไปอีกขั้น เป็นปลา ซุปเปอร์เรดซิน ที่มีสีแดงสด และ โหนก มาก ซึ่งเรียกต่างกันออกไปจากเดิมว่า เรดช๊อก (Red Shock) โดยที่จริงแล้วชนิดของพ่อแม่พันธุ์ปลาที่แท้จริง ยังคงเป็นปริศนาให้นักเพาะปลาครอสบรีดขบคิดกันอยู่หลายคน
ปัจจุบันมีผู้ที่ทำเรดช๊อคได้จนเป็นที่ยอมรับอยู่เพียงเจ้าเดียว จึงทำให้ เรดช๊อกมีราคาที่สูงกว่า ซุปเปอร์เรดซิน ค่อนข้างมาก ส่วนอีกด้านในส่วนของนักเพาะพันธุ์ปลาหมอสีครอสบรีด ได้มีการพัฒนาปลาสายพันธุ์ซุปเปอร์เรดซินออกไปอีก โดยได้นำปลา ซุปซิน(ตัวเมีย) มาผสมเข้ากับปลา หล่อฮั้น เท็กซัสเขียว หรือแม้กระทั่งปลากลุ่มเวียจา ที่เพาะค่อนข้างยาก เช่น อาเจนเตีย หรือ เรกานี่ ซึ่งลูกปลาเหล่านี้ กำลังเติบโต คาดว่า อีกไม่นาน คงได้เห็นซุปซิน สายใหม่ๆ ในตลาดปลาสวยงามต่อไป

  • รูปแบบของซุปเปอร์เรดซิน

SRS สายมืออาชีพ

SRS สายมืออาชีพ

SRS สายมืออาชีพ

SRS ที่ breed โดยมือ สมัครเล่น

Red Shock

หน้าตา ของ Red Shock
  • สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ
1. เลือกซื้อปลาจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ เพราะปลาซุปซินที่โตขึ้นมาแล้วสวยนั้น ยังมีผู้เพาะได้จำนวนเพียงไม่กี่ราย
2. เลือกปลาขนาดสามนิ้วขึ้นไป เพราะปลาขนาดนี้จะเริ่มเห็นฟอร์มแล้ว ไม่ว่าเรื่อง สี ทรง ผิว และ ความโหนก
3. สี ควรเลือกตัวที่สีเข้มที่สุด ซึ่งปลาซุปซินสีจะแดงซึมออกมาจากผิว หรือ ใต้เกล็ด
4. ทรง ควรเลือกทรงลำตัวที่มีความหนา สมส่วนตัวปลา ควรสังเกตตรงข้อหางของ ซุปซิน มักชอบหางกระดก
5. ผิวปลา เลือกเนื้อที่เนียน ซึ่งหากเป็นลูกปลาขนาดเล็กยังไม่สามารถมองได้ง่ายนัก โดยที่ซุปซินตอนเล็กผิวจะเนียนใกล้เคียงกันเหมือนกันหมด แต่พอโตได้ในระดับหนึ่งจะเห็นความแตกต่างของผิวได้อย่างชัดเจน
6. โหนก ปลาซุปซิน มีจุดเด่นที่หัว ซึ่งปลาหัวโหนก จะราคาค่อนข้างสูง การเลือกปลาหัวโหนก อาจมองจุดสัง เกตได้จาก ปลาที่โหนกมักจะมีมุมหักของหัวมาก และ ระหว่างช่วงปากถึงสันหัวค่อนข้างยาว
7. ลักษณะนิสัยและความคึกคักของปลา เนื่องจาก ปลาซุปซิน เป็นปลาที่ ขี้เล่น ดังนั้น ควรเลือกปลา ที่ ขี้เล่น สามารถเล่นกับมือได้ ซึ่งจากการสังเกตปลาที่มีอาการดุ คึกคัก มักจะโหนกเร็ว และ สีสัน มาเร็วกว่าปลาที่ไม่มีความ คึกคะนอง หรือ ตื่นคน
  • การเลี้ยงดูซุปเปอร์เรดซิน
ปลาซุปซิน เป็นปลาที่การเลือกซื้อไม่ค่อยยากเท่าไร เนื่องจากมีองค์ประกอบหลักในการเลือกซื้อไม่มากนัก โดยมากมักมองที่ ทรงปลา ความโหนกของหัว และสีปลา ไม่ว่าจะเป็นสีแดง หรือชมพู ประกอบกับนิสัยคึกคัก ขี้เล่นของปลา จึงทำให้มีคนนิยมเลี้ยงกันมาก สำหรับการเลี้ยงดูนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก ต้องอาศัยความใส่ใจ และเวลาพอสมควร จึงสามารถเลี้ยงซุปซินให้สวยงามได้
1.    ควรเลี้ยงเดี่ยว ในตู้กว้างพอสมควร เพราะปลา ชนิดนี้ มีนิสัย ซุกซน ขี้เล่น ชอบว่ายไปมา อยู่ตลอด ในกรณีที่กั้นช่องตู้เพื่อเลี้ยงตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ควรหาแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด สีขาวมากั้นไม่ให้ปลาเห็นกัน เพราะเมื่อปลาเห็นกัน ร่างกายจะฮีท คือมีลักษณะ มีลายดำขวางที่ลำตัวเกิดขึ้นได้ จะทำให้ปลาไม่สวยงามเท่าที่ควร
2.    หิน ควรใช้หินสีขาว หรือ น้ำตาลอ่อน ทำให้ปลาขับสีดีขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้หินสีดำ เพราะปลาจะปรับตัวเข้ากับหินจนร่างกายดำไปด้วย ดูไม่สวยงาม
3.    ควรมีกระจกเล็ก ๆ ให้ปลาส่องเล่น เมื่อปลามองกระจกล่อ ปลาจะมีความคึกทำให้โหนกได้ง่าย แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้กระจกตลอดเวลา ควรติดกระจกให้ปลาเล่นวันละ สามสี่ครั้ง
4.    ไม่ควรย้ายที่ปลาบ่อยๆ เนื่องจากปลาซุปซิน เป็นปลาที่มีหัวเป็นโหนกน้ำ ไม่ใช่โหนกเนื้อ ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนย้าย โหนกมักจะยุบ และสีปลามักซีดลง ซึ่งกว่าจะกลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
5.    ในระหว่างเวลาที่ปลาขึ้นฟอรม์ ไม่ว่าสีหรือช่วงระยะเวลาที่โหนกขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการถ่ายน้ำปลา และย้ายที่ ซึ่งจะทำให้ปลาอาจจะมีอาการหยุดการพัฒนาการได้
6.    อาหารควรให้อาหารสด เช่น กุ้งฝอย หนอนแดง สลับกับอาหารเม็ดบ้างเป็นครั้งคราว ไม่ควรให้อาหารในปริมาณที่มากจนเกินไป ควรให้น้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อฝึกให้ปลาเชื่องมือ และออกมาเล่นมากขึ้น ส่วนอาหารเม็ดนั้น ไม่ควรที่จะใช้อาหารเม็ดที่มีสารเร่งสีจากฮอร์โมนมากจนเกินไป เนื่องจากปลาอาจมีสีดำ ควรใช้อาหารเม็ดที่มีสารเร่งสีจากธรรมชาติจะดีกว่า
7.    ควรรักษาความสะอาดในตู้ปลาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้สกปรก เนื่องจากปลาอาจมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย
เป็นงัย บ้างครับ สำหรับ ไฮไลท์ ตอนนี้ ยาว เหลือเกิน เอา กันให้ หาย อยาก เพราะ นานๆ จะอัพเดทสักที สำหรับ ไฮไลท์ ตอนนี้ ต้องขอบคุณ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคน ที่ช่วย ให้ บทความอันนี้ เสร็จ สำเร็จลุล่วง ไปด้วยดี เรียกว่า เหนื่อย กันถ้วน หน้า ขอเสียงปรบมือ ดังๆ แทน คำขอบคุณ ให้ กับ บุคคลดังกล่าว ด้วยนะครับ
https://ad.yieldmanager.com/pixel?id=1826844&t=2%22%20width=%221%22%20height=%221%22

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น