ปลามังกรตามหลักมาตรฐานจะแบ่งออกเป็น
4 กลุ่ม 10 สายพันธุ์คือ
1. Asian Arowana สายเอเซีย โดยแบ่งย่อยออกเป็น 4
สายพันธุ์ดังนี้
- ทองมาเลเซีย (Malayan Bonytongue)
หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ทองมาเลย์” ปลามังกรสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรานี่เอง
แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น “ทอง” แต่จริงๆ
แล้ว Base สีมีหลายสีไม่ว่าจะเป็น สีทอง สีเขียว สีน้ำเงิน และ สีม่วง ซึ่งแต่ละสีความสวยงามและราคาก็แตกต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น หากพื้นเกล็ดเป็นสีทองก็จะเป็นทองแวววาวเงางาม และสุกสว่าง อร่ามตา แต่หากพื้นเกล็ดมีสีม่วงน้ำเงิน
ดูแล้วจะเหมือนกับตัวปลาใส่เสื้อเกราะ มีมิติของสีมากขึ้นเพราะเนื้อในเกล็ดจะเป็นสีน้ำเงิน
แต่มีการตัดขอบสีทองเป็นวงเกล็ดตลอดทั้งตัว ถามว่าแบบไหนสวยกว่า ? ตอบไม่ได้ครับเพราะของแบบนี้แล้วแต่คนชอบครับ
แต่ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม สำหรับสายพันธุ์ทองมาเลเซียแล้ว เมื่อปลาโตขนาดได้ที่โดยมีความยาวประมาณ
20” เกล็ดจะขึ้นมาถึงด้านหลัง (เกล็ดแถวที่ 6) หรือที่เรียกว่า
Cross Back… แต่ทว่าการข้ามหลัง ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามหลังหมดจดทุกตัว
บางตัวก็แค่เกือบข้าม บางตัวก็ข้ามแต่ยังไม่หมดจด… จะหาเนียนหมดจดทั้งทั้งหลังจริงๆ
มีไม่มากนัก
สำหรับเรื่อง Base สีของตัวปลา
หากเป็นปลาทองแบบ Full Gold ก็จะเป็นทองทั้งตัว ทั้งหัว แก้ม ครีบและหาง
ซึ่งตลอดตัวจะเป็นโทนสีเดียวกัน (เหมือนทองคำแทงว่ายน้ำได้) ถ้าเป็น Gold
Base ก็จะเป็นสีทองเหมือนกันแต่จะไม่หมดจดทั้งตัว สีเกล็ดด้านในยังมีอมดำ
ที่หัวก็เช่นกัน ส่วนใบหางแม้จะมีละอองทองขึ้นมาเต็มแผ่นแต่ก็ยังเห็นเป็นสีส้มเข้มหรือเลือดหมู
แต่หากเป็น Blue Base สีเกล็ดจะเป็นสีม่วงและยิ่งเมื่อเวลาต้องแสงไฟก็จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน
เครื่องครีบของ Blue Base จะเป็นสีเลือดหมูเข้มจัด และสีของตาเป็นเป็นสีแดง…
ทองมาเลย์ในวัยเล็กดูยากมากว่าโตขึ้นมาแล้วจะเป็นสีไหน
? แม้แต่ปลาคอกเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะมี Base สีเดียวกัน
บางตัวเป็น Gold Base บางตัวเป็น Blue Base… ยิ่งปัจจุบันมีการแบ่งชั้นของเกรด
และชื่อสายพันธุ์ย่อยมากขึ้น ดังนั้นนอกจากจะดูสียากแล้ว ยังดูแวว (ว่าไปได้ไกลแค่ไหน)
ยากอีกด้วย ปลามังกรสายพันธุ์นี้เป็นปลาที่มีราคาแพงและเปราะบางมาก เวลาเลี้ยงดูก็ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษหน่อย
เพราะทั้งครีบและเกล็ดไม่ค่อยแข็งแรง แตกหักง่ายและการรักษาตัวก็ค่อนข้างใช้เวลานานทั้งในปลาเล็กและปลาใหญ่
ฉะนั้นในการเลี้ยงดูโดยเฉพาะการโยกย้ายปลา หากไม่รู้วิธีที่ถูกต้องก็ควรให้ผู้ที่มีความรู้มีความชำนาญมาช่วยดีกว่านะครับ
เพราะถ้าปลาบาดเจ็บเสียหายแล้วจะไม่คุ้มกัน
ลักษณะโดยทั่วๆ ไปของสายพันธุ์ทองมาเลย์ก็คือ
“เครื่องครีบ” จะเล็กไม่ใหญ่เหมือนสายพันธุ์อื่น ลักษณะหัวและหน้าจะทู่สั้น
แต่สีสันความแวววาวมาเป็นที่หนึ่ง ที่เกล็ดละเอียดเล็กๆ ใต้ครีบหลังจะมีการเปิดเป็นสีทองเต็มเกล็ดด้วยในขณะที่ทองอินโดจะไม่มีหรือมีก็แค่เพียงประปลายไม่ชัดเจน
ทองมาเลย์โดยทั่วๆ ไปจะมีตำหนิหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นกันมากนั่นก็คืออาการ “ตาตก” ในขณะที่สายพันธุ์อื่นเป็นกันน้อยกว่า
- มังกรแดง (Super Red Arowana) ปลามังกรแดงมีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียครับโดยแบ่งออกเป็น
2 ชนิดคือ “Blood Red” และ “Chili
Red” (ผมเรียกว่า “แดงเดือด” กับ
“แดงพริก”)
สีสันของ Blood Red เมื่อโตเต็มที่จะเข้มมาก
วงเกล็ดหนา (เรียกว่า Thick Frame) การเรียงตัวของสีอาจไม่เป็นระเบียบแต่ก็แดงเข้ม
แก้มแดง ปากแดง ครีบเครื่องทุกส่วนจะแดงเข้มดูน่าเกรงขาม ส่วน Chili Red จะแดงแบบแดงเลือดนกคือแดงสว่าง
ต้องตา ดูสง่างาม เมื่อโตเต็มที่วงเกล็ดโดยมากจะ ขอบเกล็ดบาง (Thin Frame) การตัดขอบก็จะเป็นระเบียบแดงเนียนไปทั้งตัว
ตั้งแต่หัวจรดปลายหาง…
ลักษณะหัวส่วนใหญ่ของ Blood Red จะต่างกับ
Chili Red ตรงที่ของ Blood จะเป็นทรง Sparta (หัวออกแหลมเป็นทรงสามเหลี่ยม)
แต่ของ Chili จะเป็นทรง Spoon Head (หัวช้อน)
ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่นักเลี้ยงชาวจีนเพราะเชื่อกันว่าจะเป็นตัวตักตวงเงินทองให้กับเจ้าของผู้เลี้ยง
ความแตกต่างอีกอย่างคือปลา Blood Red ส่วนใหญ่หางจะเป็นทรงพัดซึ่งมีลักษณะกลมและกว้าง
แต่ Chili Red หางจะเป็นทรงเพชร (Diamond Shape)
ซึ่งจะเรียวยาว ดูสง่างามกว่า
โดยปกติปลา Chili Red จะมีราคาสูงกว่า
Blood Red ในปลาวัยเล็กเป็นการยากมากที่จะแยกว่าตัวไหนเป็น Blood และตัวไหนเป็น
Chili แม้แต่ผู้ที่เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการมานานก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนมั่นใจ
แม้แต่ในใบเซอร์รับรองสายพันธุ์จากฟาร์มก็ยังไม่กล้าระบุชี้ชัด ยิ่งปัจจุบันไม่มีปลาสายแท้ของทั้งสองนี้แล้ว
แม้แต่ในประเทศแม่แบบอย่างอินโดนีเซียเองก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อปลาสายใหม่ๆ ที่เอกลักษณ์เฉพาะฟาร์มมากกว่าครับ
สำหรับปลาแดงหากไม่ศึกษาให้ดีพอ มีกำลังทรัพย์แต่ไม่มีความรู้ก็อาจถูกหลอกเอาปลาแดงเกรดรองมาขายก็เป็นได้
หรือแม้แต่ได้ปลาดีมาแต่เลี้ยงไม่เป็นทำให้ปลาสีซีดไม่สวยก็เสียปลาได้เช่นกัน
ในทองมาเลย์มีตำหนิส่วนใหญ่คือ “ตาตก” ปลาแดงก็มีเช่นกันนั่นก็คือ
“ปากยื่น” (ปากล่างเกยปากบน) โดยจะเห็นชัดในปลาขนาดกลาง
ถึงขนาดใหญ่ แต่ก็มีไม่น้อยครับที่ยื่นกันตั้งแต่เล็กๆ เลย
- ทองอินโด (Red Tail Golden
Arowana) ทองอินโดหรือ RTG เป็นปลาระดับกลางซึ่งถ้าพูดถึงความสวยงามแล้วล่ะก็
สวยไม่แพ้ใครเลยทีเดียว ปลาที่โตแล้วเกล็ดจะเป็นสีทองเข้มแต่จะไม่แวววาว เงางาม สุกใสเหมือนทองมาเลย์
และจะขึ้นถึงเพียงเกล็ดแถวที่ 4 เท่านั้น แต่ก็อาจมีเปิดมาถึงแถวที่ 5
ไม่ว่าจะประปรายหรือเต็มแถว ดังนั้นข้อแตกต่างระหว่างปลาทองอินโดกับทองมาเลย์จึงอยู่ตรงที่
สีเกล็ด Base สี ความมันเงาแวววาว และ ข้ามหลังหรือไม่ข้ามหลัง
ในปลาเล็กทั้ง 2
สายพันธุ์นี้สำหรับมือใหม่อาจจะค่อนข้างดูออกยากและมีความเป็นไปได้สำหรับการสลับหลอกขายกัน
โดยปกติสีของครีบก้น ครีบอกและชายน้ำของทองอินโดจะเป็นสีส้มอมแดง ส่วนหางจะแดงแค่ค่อนใบ
ปลายหางด้านบนและครีบหลังจะออกน้ำตาลไหม้ เกล็ดแถว 5
จนถึงหลังจะมีน้ำตาลดำ เกล็ดละเอียดเล็กๆ ใต้ครับหลังจะไม่มีการเปิดสีของเกล็ด.. ทองอินโดเป็นมังกรสายพันธุ์ใหญ่ที่สุดในสายเอเซี่ยนโดยโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ
30” (แต่โดยเฉลี่ยแล้วหากเลี้ยงในตู้จะโตได้ราวๆ 24”)
- อโรวาน่าเขียว (Green Arowana) หรือ
“ปลาตะพัด” ของไทยเรานี่เอง จริงๆ อโรวาน่าเขียวมีอยู่หลายที่ทั้งในประเทศไทย
มาเลย์เซีย พม่า เวียดนาม ลาวและกัมพูชา (ประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้นเลยนะครับ) ปลาพันธุ์นี้โตขึ้นจะเป็นสีเขียวนวลและมีประกายทองทั้งตัว
ใบหางจะเป็นสีเขียวเข้มแต่ไม่เต็มใบเพราะที่บริเวณปลายหางเป็นรอยขลิบขาวซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์นี้
ราคาในท้องตลาดสำหรับปลาเล็กก็ไม่แพงเพราะฉะนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นทดลองเลี้ยง
ปลามังกรเขียวมี 2 แบบคือ “เขียวมีเซอร์” กับ
“เขียวไม่มีเซอร์” ใบเซอร์ก็มาจากประเทศที่มีการเพาะพันธุ์ได้จริงๆ
อย่างเช่นประเทศมาเลเซีย หรืออาจจะมาตัวแทนบริษัทเทรดดิ้งต่างๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อแสดงเครื่องหมายการค้าของตัวเองในขณะที่เขียวไม่มีเซอร์คนขายมักจะพูดว่าเป็นปลาป่าหรือปลาจับนั่นเอง
จริงๆ แล้วถ้าดูปลาเป็นหรือพอมีประสบการณ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงใบเซอร์ก็ได้เพราะคุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย
แต่ราคาที่สนนกันตอนต้นเขียวมีเซอร์มีราคาสูงกว่าตัวที่ไม่มีเกือบเท่าตัวเลยล่ะครับ
เพื่อนผู้อ่านหลายท่านอาจมีการสับสันระหว่าง
“มังกรเขียว” กับ “ทองอ่อน” ว่าเหมือนกันหรือไม่
ในปลาวัยเล็กทั้ง 2 อย่างนี้ดูออกค่อนข้างยากเช่นกัน สำหรับผมๆ
มองว่า “มังกรเขียว” ในวัยเล็กจะมีความเงางาม ขาวและสว่าง ในขณะที่
“ทองอ่อน” ไม่เงาแต่จะขาวหรือไม่ก็เป็นสีเหลืองอ่อนๆ
ทั้งตัว แต่จริงๆ แล้วเคยมีผู้รู้กระซิบบอกผมว่าทั้ง 2
อย่างนี่จริงๆ มันก็พันธุ์เดียวกันเพียงแต่เขียวมากเขียวน้อย ถ้าออกเข้มๆ หน่อยก็มังกรเขียว
ถ้าออกทองเงาๆ หน่อยก็ทองอ่อน แต่ราคาต่างกันประมาณ 1
เท่าครับ อย่างที่บอกไปนะครับมังกรเขียวสวยๆ หรือ “เขียวแท้” ที่เพาะกันในฟาร์มโดยปกติจะมีใบเซอร์รับรองสายพันธุ์ให้กับผู้ซื้อและจะขายขึ้นตู้
ส่วนถ้าเป็นทองอ่อนหรือเขียวไม่มีเซอร์ก็จะเป็นปลาถุงขายธรรมดา
2. Australian Arowana เป็นปลามังกรที่มีต้นกำเนินในทวีปออสเตรเลีย
แบ่งได้ออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ
- Australian Pearl Arowana ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ครั้งแรก
ตอนนั้นยังไม่เคยเห็นตัวจริงเลย แต่ตอนนี้ได้เห็นตัวจริงแล้ว แต่ไม่ได้มีโอกาสถ่ายรูปมาให้
ต้องขออภัยด้วยนะครับ สำหรับปลาตัวนี้เป็นปลาที่ค่อนข้างหายาก และมีราคาสูงกว่า ออสเตรเลียจุด
ค่อนข้างมาก
- ออสเตรเลียจุด (Australian Spot
Arowana) ส่วนเจ้านี่เราเจอกันบ่อยจนแทบซี้กันเลยทีเดียว ปลามังกรออสเตรเลียจุด
(ขอเรียกว่า “ออสเตรเลีย” เฉยๆ
นะครับ) ลักษณะโดยทั่วไปของสายพันธุ์นี้ก็คือหัวจะเป็นทรงปลาทู ทู่สั้น ตัวจะออกยาว
ไม่หนา หนวดสั้นมากและงองุ้ม หาง ครีบและเกล็ดจะเล็กกว่าของสาย Asian (ปลา
Asian Arowana แถวเกล็ดจะมี 6
แถวแต่สำหรับของออสเตรเลียจะมี 8 แถว) มีจุดสีส้มๆ ขึ้นตามลำตัว หางและครีบ
เรียกว่า “Orange Spot” จะเด่นชัดมากเมื่อปลาโตขึ้น
จุดด้อยของปลาสายพันธุ์นี้คือ “เกล็ด” จะเล็กและ
“หนวด” ก็ยังงุ้มเข้าหาปากไม่ยื่นออกเรียวยาวเหมือนกับสายพันธุ์อื่นจึงดูไม่สง่างาม
ปลาออสเตรเลียในขนาด 6”-12” สีตัวจะเป็นสีทองอร่ามสวยมาก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มจางลงและเมื่อปลาใหญ่เต็มที่แล้วความเงางามจะหายไป
มังกรออสเตรเลียก็เป็นอีกสายพันธุ์นะครับที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเลี้ยงปลามังกร
3. African Arowana มีเพียงสายพันธุ์เดียวคือ
- อโรวาน่าอัฟริกา ในประเทศไทยมีขายปลามังกรสายพันธุ์นี้น้อยมากเพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นที่นิยมเลี้ยง
เหตุผลนั่นไม่ได้เพราะหายากนะครับแต่เพราะปลาพันธุ์นี้มีความสวยงามที่ไม่ค่อยโดดเด่นนัก
สีสันไม่เด่นชัด พื้นเกล็ดเป็นสีเทา หัวทู่ ไม่มีหนวด เกล็ดเล็ก ครีบทุกครีบสั้นหมดดูไม่สง่างาม
(ปัจจุบันหาซื้อได้ที่ร้านขายปลาแปลกทั่วๆ ไป สนนราคาไม่แพงนัก สามารถซื้อหามาเลี้ยงได้โดยไม่ลำบากครับ)
4. South America Arowana
- อโรวาน่าเงิน (Silver Arowana) ปลามังกรเงินมีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตลุ่มน้ำอเมซอนในอเมริกาใต้
ปลาในวัยเล็กจะเป็นสีเงินอมชมพู ครีบหางและครีบก้นปลายขอบมีสีชมพู หนวดยาวสวยเด่น ชายน้ำหรือที่เรียกกันว่า
“ครีบก้น” ยาวมาก เมื่อปลาโตขึ้นจนได้ขนาด สีเกล็ดจะเป็นสีเงินเงางามแต่ขอบครีบที่เป็นสีชมพูดจะจางหายไป
มังกรเงินมีความยาวสูงสุดในหมู่ปลามังกรสวยงามที่นิยมเลี้ยงทั่วไป
(ไม่รวมอะราไพม่า) เพราะเมื่อโตเต็มที่จะยาวได้ถึง 1
เมตร 20 เซนเลยทีเดียว แม้ตัวจะใหญ่ได้ถึงขนาดนี้แต่เจ้านี่ก็อ่อนแอมากเลี้ยงกับใครก็มักจะเป็นผู้ถูกทำร้ายไปซะหมด
(สู้เขาไม่ค่อยได้) ในมังกรเงินขนาดใหญ่ผู้เลี้ยงมักจะเจอปัญหาเรื่อง “ตาตก” รุนแรงและปากงุ้มน่าเกลียด
ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงเพราะลีลาในการกินอันรุนแรงตามนิสัยของมัน แต่ด้วยส่วนกรามที่บอบบางไม่ค่อยแข็งแรงนักแล้วกลับกินอาหารอย่างดุเดือดจึงมีโอกาสให้กรามหักและปากงุ้มเสียรูปได้
ยังไงก็ตามสำหรับปลามังกรสายพันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยงดูเล่น เจ้านี่ก็ยังคงครองความเป็นหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ครับด้วยราคาที่ถูกมาก
(ถูกที่สุดในตระกูลปลามังกรทั้งหมด) เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเชื่องน่ารัก แล้วใครล่ะที่จะปฏิเสธลง
- อโรวาน่าดำ (Black Arowana) ในวัยเล็กมีลักษณะคล้ายมังกรเงินแต่ว่าเป็นสีดำ
ปลามังกรดำเลี้ยงยากกว่ามังกรเงินมาก ตายง่าย กินยาก อ่อนแอไม่ค่อยแข็งแรง แม้ปลาวัยเล็กตัวจะเป็นสีดำแต่พอโตขึ้นสีจะค่อยๆ
ถอดออกเป็นคล้ำดูคล้ายกับมังกรเงิน ปลามังกรดำโตเต็มที่ความยาวประมาณ 20” และกว้างไม่เกิน
5” ซึ่งถือว่าเล็กมากหากเทียบกับพันธุ์อื่นๆ มังกรดำก็เป็นอีกสายพันธุ์นึงที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มเลี้ยงเพราะราคาไม่แพงมาก
แต่ว่าอาจจะหาซื้อยากหน่อยเพราะมีขายกันเป็นฤดูเท่านั้น
- อะราไพม่า (Arapima Gigas) หรือที่เรียกว่า
“ปลาช่อนอเมซอน” ลักษณะของปลาชนิดนี้คือเล็กๆ ตัวจะเป็นสีเขียวและหางสีดำ
แต่พอโตขึ้นตัวจะมีสีเขียวเข้มเป็นมรกตแต่ไม่เงางามและส่วนหางจะมีปื้นแดงส้มเป็นลายคาดเรียกว่า
“กุหลาบไฟ” อะราไพม่าเป็นปลาเกล็ดเล็กที่สุดในตระกูลปลามังกร
แถมยังไม่มีหนวดดูแล้วเป็นปลาอโรวาน่าที่หน้าตาไม่เหมือนเพื่อนพ้องเอาเสียเลย ตัวก็ใหญ่โตมโหฬารโดยโตเต็มที่ได้ถึง
3 เมตร
ปลาอะราไพม่าโดยปกติจะเลี้ยงลงบ่อ น้อยคนนักจะเลี้ยงในตู้เนื่องจากว่าเป็นปลาที่โตเร็วมาก
ในระยะเวลา 1 ปี ปลามังกรทั่วไปขนาด 6
นิ้วจะโตได้ราว 12-15 นิ้ว ในขณะที่อะราไพม่าจะโตได้ถึง 30-45
นิ้ว และเป็นปลาที่แข็งแรงมากจึงยากต่อการเคลื่อนที่ย้ายเข้าย้ายออกบ่อยๆ นอกจากนี้การว่ายน้ำของอะราไพม่ายังว่ายอย่างช้าๆ
และไม่เป็นทิศเป็นไม่ทางเหมือนปลามังกรทั่วไปที่ว่ายกลับไปกลับมาเป็น “หยินหยาง” มีทิศมีทางดูสง่างามกว่า
แต่สำหรับคนที่มีสถานที่และชอบความยิ่งใหญ่ อะราไพมายังเป็นปลายักษ์ในอันดับต้นๆ ที่คนเหล่านั้นนิยมซื้อหามาเลี้ยง
นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่
แต่ยังไม่ได้ถูกยอมรับตามมาตรฐานซึ่งก็มีดังนี้
- Golden Red Arowana ถือเป็นปลาแดงเกรดรองซึ่งลักษณะเกล็ดจะเป็นสีทองอมแดง
ส่วนหางและครีบทั้งหมดเป็นสีแดงสดโอกาสจะที่จะพัฒนามาเป็นแดงเต็มตัวมีน้อยมาก ปลา Super
Red ทั่วๆ ไปตามท้องตลาดที่เกรดราคา 20,000
กลางๆ ส่วนใหญ่โตขึ้นมาแล้วมักจะเป็น Golden red หรือไม่ก็
Orange Red
*** (ในบางเมืองที่ประเทศอินโดนีเซีย หากกล่าวถึง
Golden Red แล้ว ก็จะหมายถึง Red Tail
Golden หรือ ทองอินโด ครับ)
- Hiback Arowana เป็นลูกผสมระหว่างทองมาเลย์กับทองอินโด เพื่ออัพเกรดสายพันธุ์ทองอินโดให้สูงขึ้น
ลักษณะปลา Hiback คือเกล็ดปลาจะเปิดสูงขึ้น จากเดิม “ทองอินโด” ที่ได้แค่เพียงแถวที่
4 อาจขึ้นมาถึงแถวที่ 5 แต่อย่างไรก็ตามสีเกล็ดจะไม่ข้ามหลัง
นอกจากจะแตกต่างกันที่เรื่องเปิดสูงไม่สูงแล้ว Base สีก็ยังเป็นจุดสำคัญที่ใช้มองความความแตกต่างระหว่าง
Hiback กับทองอินโด เพราะโดยปกติแล้ว Hiback ที่เป็นลูกผสมทองมาเลย์กับทองอินโดจริงจะมีสีเข้มกว่า
สีครีบจะเป็นโทนเข้ม ไม่ว่าจะเป็นสีเลือดหมูหรือสีแดง ปัจจุบันมีตลาดให้การต้อนรับสายพันธุ์
Hiback มากเพราะว่าราคาสูงกว่าทองอินโดไม่มากแต่เมื่อโตมาแล้วดูสวยงามกว่า
(ปลาอโรวาน่าทองมาเลย์ที่ไม่สวยหรือทองอินโดที่สวยๆ อาจถูกพ่อค้าหัวใสใจกล้าเอามาขายเป็น
Hiback ได้)
*** ปัจจุบัน Hiback Arowana เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก
และมีการแตกย่อยในอีกหลายชื่อ ตัวอย่างเช่น Hiback Golden, Mahoto Golden, Super
Hiback, Premium Grade Red Tail Gold และอื่นๆ อีกมากมาย สนใจจะเป็นเจ้าของซักตัวขอให้ขยันอ่าน
และหาเวลาเดินดูปลาให้มากๆ ก่อนนะครับ ของมีมาก ทางเลือกก็มาก ทางลวงก็มีมากด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่ต้องการจ่ายแพงกว่าก็ต้องศึกษาให้มากๆ ครับ ทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่ง ในต่างประเทศ
Hiback Arowana ถูกจัดให้อยู่ในระดับชั้นของ Red
Tail Golden - RTG Class คือ ทองอินโด (ไม่อยู่ในทองมาเลย์เซีย) ครับ
- Indo Green เป็นอีกหนึ่งลูกผสมที่มาจากสายพันธุ์ทองอินโดแต่มีคุณภาพต่ำกว่า
นั่นก็คือลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ ทองอินโด และ มังกรเขียว ซึ่งในวัยเล็กจะมีจุดเด่นเรื่องการเปิดของเกล็ด
(ต่างจาก Hiback สายแท้ที่เป็นลูกผสมทองอินโด กับ ทองมาเลย์)
คือจะเปิดสูงมากๆ เปิดระเบิดเถิดเทิงแบบที่เห็นแถวที่ 5
เรียงเป็นแถบตั้งแต่เล็ก แต่หากสังเกตดีๆ วงเกล็ดข้างในจะติดเนื้อเขียวเข้ามาด้วย แม้ความโดดเด่นจะอยู่ที่การเปิด
แต่เรื่องสีสันก็ถือเป็นจุดด้อยที่ต้องทำให้ผู้เลี้ยงต้องย้ำคิดพิจารณาหากจะคิดหามาครอบครอง
นั่นก็คือ เปิดสูงอย่างเดียวแต่สีสันไม่ค่อยชัดเจน
- Tong Yan (ถงเยิ่น) เป็นลูกผสมระดับชั้นสูงสุดที่ถูกยอมรับในเรื่องคุณภาพของสายพันธุ์จากผู้เลี้ยงในปัจจุบัน
เพราะเป็นลูกผสมระหว่าง Super Red และ ทองมาเลย์ (ใบรับรองสายพันธุ์ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีชื่อใหม่เป็นพิเศษจะระบุว่า
Xback X Super Red) ลักษณะของสีสันที่ได้มาบ่งชี้ชัดว่าเป็นลูกครึ่งของทั้งสองสายพันธุ์คือออกเป็น
“สีทองแดง” บางตัวได้ความโดดเด่นจากแดงมากหน่อย ก็จะเป็นสีสนิมเข้ม
แก้มสีแดง ตาสีแดง บางตัวได้คุณสมบัติจากทองมาเลย์ ก็จะมีการตัดขอบเกล็ดด้วยสีสันหลายมิติ
ดูสวยงาม อีกทั้งมีการเปิดของเกล็ดละเอียด และข้ามหลังด้วยเช่นกัน
*** Tongyan ในเมืองไทยชื่ออาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก
ไม่เคยได้ยิน แต่หากบอกว่าเป็น Red Splendor จะคุ้นหูกันมากกว่า
และ ในต่างประเทศปลาสายพันธุ์นี้ถูกจัดให้อยู่ในระดับชั้นของ Malaysian
Golden Cross Back คือ ทองมาเลเซีย (ไม่อยู่ในปลาแดง) และมีชื่อพิเศษที่เป็นที่ทราบกันว่า
Tong Yan Cross Back
- ปลามังกรทองอ่อน ได้รับรู้ข้อมูลของเจ้ามังกรเขียวไปแล้วคราวนี้มาดูตัวที่เป็นฝาแฝดกันมั่งครับ
สำหรับเจ้าทองอ่อนตัวจะเป็นสีทองอ่อนๆ โตขึ้นบริเวณริมหาง ครีบหลังและครีบก้นจะด่างเป็นสีขาว
พวกทองอ่อน มังกรเขียว มังกรเงิน มังกรดำ ถือเป็นปลา Base สีเดียวนะครับคือเหมือนๆ
กันทั้งตัวต่างกับสายพันธุ์อื่นที่มีสันสันมากกว่า ผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้ครั้งแรกนิยมเลี้ยงปลาพันธุ์นี้ก่อนที่จะเลี้ยงปลาแพงอย่างทองมาเลย์
แดง และทองอินโด เพราะราคาไม่แพงมาก
- Yellow Tail เท่าที่ผมทราบและเป็นข้อมูลทางการตามมาตราฐานสากลจากจากเวบไซท์ต่างประเทศ
ปลามังกร Yellow Tail เป็นหนึ่งใน 3
สายพันธุ์ในระดับชั้น Red B ซึ่งแบ่งออกเป็น (Yellow Tail (ทองหางเหลือง)
/ Red 1.5 (ทองหางส้ม) และ Banjar Red (ทองหางแดง)
แต่อยู่ในระดับราคาที่ต่ำสุด และโดยรวมมีลักษณะคล้ายคลึงมังกรเขียวมากที่สุด แต่ในความเป็นจริง
ระดับชั้นของ Banjar Red ทั้งหมดนั้น หน้าตาจะคล้ายคลึงกับมังกรเขียว
และทองอ่อนมาก โดยเฉพาะสีเกล็ด และสีของลำตัว จะต่างกันก็ตรงที่สีหาง (ที่ถ้าเป็น ทองอ่อน
หรือ เขียว จะเป็นสีขาว และเทา แต่ถ้าเป็น Red B จะเป็น
เหลือง ส้ม แดง ตามที่กล่าวมา) แต่สุดท้ายปลายทาง ในระดับชั้นที่ใกล้เคียงกันนี้ที่
"ขอบหาง" ของทุกตัวจะมีสีขาวให้เห็นครับ
- Super Red Grade B (Banja Red) ในปลาวัยเล็กจะดูคล้ายคลึงกับปลาแดงมาก
แต่หากสังเกตดีๆ สีหางและครีบของ Red B จะเป็นสีส้มในขณะที่ปลาแดงเกรด
A จะเป็นสีแดงสดและเต็มใบ เหลือบสีก็เช่นกัน (สีของเกล็ดเวลาที่กระทบกับแสง)
ของ Red B จะออกเป็นสีม่วงอ่อนๆ เงา หรืออาจจะไม่มีดูแล้วแค่ขาวๆ เงาๆ เท่านั้น
แต่ถ้าเป็น Red A เหลือบสีจะเห็นเป็นสีม่วงชัดเจน Red
B เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีลักษณะสีสันจะคล้ายทองอ่อน แต่หางและครีบจะออกเป็นสีส้มเข้ม
*** เพื่อเป็นการเพิ่มช่องการการตลาดให้ขายจำหน่ายปลาได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันฟาร์มปลาและร้านค้าได้เปลี่ยนชื่อในใบรับรองสายพันธุ์ของปลา Banjar
Red เป็น Red Arowana หรือ “มังกรแดง” ดังนั้น
ขอให้เพื่อนผู้อ่านทุกท่านโปรดเข้าใจว่า Red Arowana คือ
Red B นะครับ เพราะมีหลายท่านเข้าผิดคิดว่าเป็น Super Red
Grade A
- King Arowana ปลาอโรวาน่าชนิดนี้คือปลาพิการในส่วนของ
“ช่วงหลังและคอ” ทำให้ดูค่อมๆ หลังจะสูงเกินส่วนหัวขึ้นมามาก
แม้เจ้านี่จะเรียกได้ว่าเป็นปลาพิการแต่ King สวยๆ
นี่พิการแล้วแต่ออกมาดูดีนะครับ King Arowana เป็นได้ทุกสายพันธุ์ตั้งแต่ถูกจนแพง
(ส่วนในมังกรเงินมีลักษณะพิเศษใหม่ด้วยก็คือ “คอ
V” แปลกดีเหมือนกัน) ราคาของปลา King ก็จะแพงมากด้วยยิ่งถ้าเป็นปลาระดับสูงอย่างปลาแดงหรือทองมาเลย์
King ตัวนึงนี่ว่ากันเป็นแสนบาทเลยทีเดียว
- Albino ลักษณะพิเศษของปลาแปลกชนิดนี้ก็คือ “เผือกตาแดง” ตัวปลาจะมีสีเหลืองอ่อนๆ
และตาสีแดง Albino เป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการ Breed
สายพันธุ์กันเองระหว่างครอบครัวเดียวกันจนเป็นสายพันธุ์ที่ด้อยลง
ในเมืองไทยยังไม่มีใครนำเข้ามานะครับเพราะในโลกนี้มีไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง อีกอย่างราคาสนนกันเป็นล้านครับ
คงต้องใจถึงพอตัวจึงจะได้ครอบครอง
- Platinum ปลา Platinum ถือเป็นปลาแปลกชนิดนึง
ทั้งตัวจะเป็นสีเงินและเงา (แต่ไม่ใช่สีเงินเหมือนมังกรเงินนะครับ) Platinum
เขียวจะดูเด่นที่สุดคือทั้งตัวจะเป็นสีเดียวกันเลยครับทั้งหัว ครีบ
เกล็ดและหางจะเป็นสีขาวเงาทั้งหมด (ยกเว้นลูกตา) ปลา Platinum เกิดกับปลาตระกูลหลักได้ทุกสายพันธุ์ตั้งแต่
Platinum ของมังกรเขียว Platinum ของทองอินโด
Platinum ของแดงหรือแม้แต่ของทองมาเลย์ และเพราะเป็นปลาแปลกหายากราคาที่เสนอขายจึงแพงมาก
ในบ้านเราไม่ค่อยมีให้เห็นเพราะผู้คนไม่ค่อยนิยมเลี้ยงและเพราะเหตุนั้นจึงมีร้านค้าน้อยรายมากที่กล้านำเข้ามาจำหน่าย
(เกรงว่าจะขายไม่ออก)
- Snow Arowana (มังกรหิมะ) เท่าที่ทราบคือแต่เดิมมาหากกล่าวถึง
Snow Arowana จะหมายถึงลักษณะพิเศษของการ "ผ่าเหล่าเผือกขาว"
(Leucistic) ในปลามังกรเงิน (Silver Arowana)
การผ่าเหล่าเผือกขาวที่ว่านี้ แตกต่างจากคุณสมบัติของ Platinum
(ทองคำขาว) อย่างชัดเจนตรงที่ หากเป็น Platinum แล้ว
เนื้อสีของตัวปลา จะเป็นสีเงิน เงา และเป็นโทนเดียวหมดทั้งตัว แต่ในกรณีของ Snow
Arowana เนื้อสีของตัวปลาจะเป็นสีขาวด้าน แต่เรียบ เนียน และเป็นโทนเดียวกันทั้งตัว
ตั้งแต่หัวจรดหาง (สีหนวด สีแก้ม สีเกล็ด สีครีบทุกส่วนสัด เป็นสีขาวทั้งหมด) เว้นแต่
"ลูกตา" เท่านั้นที่เป็นสีดำ
Snow Arowana ถือเป็นปลาหายากที่ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น
(ข้อมูลจากผู้เลี้ยงและเจ้าของปลาที่เปิดเผย) และมีมูลค่าการซื้อขายที่สูงมาก ด้วยเหตุผลว่าเป็นปลาผ่าสายพันธุ์
ที่ได้ความแปลกที่สมบูรณ์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นเป็นสง่าไม่เหมือนใคร ดังนั้นจึงเป็นที่ต้องการของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชั้นนำของโลก
รวมถึงผู้เลี้ยงกระเป๋าหนักที่ต้องการครอบครอง สิ่งมีชีวิตที่ล้ำค่า หายากยิ่ง อย่าง
"มังกรหิมะ" ตัวนี้
- Mutant Arowana
Mutant Arowana คือ ปลาอโรวาน่าที่มีความแปลกของสายพันธุ์
ที่ส่วนของ "เนื้อเกล็ด" กล่าวคือ เนื้อในเกล็ดจะมีสีดำ น้ำตาลเข้ม หรือ
สีสนิม (ส่วนขอบเกล็ดยังคงเป็นขอบสีปกติ) และเป็นที่เกล็ดทุกแผ่นตั้งแต่เนื้อตัว จนถึงใต้ท้อง
ส่วนเกล็ดแถวที่ 5 หรือแถวหลังนั้น ก็เป็นไปตามสายพันธุ์ที่จะเป็น
(ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเห็นในสายพันธุ์สีทอง) เช่น RTG ก็จะเห็นถึงเพียวแค่แถวที่
4 หรือ 5 ส่วนทองมาเลย์ก็จะเห็นแบบข้ามหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น