วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การทำปลากัดหม้อฮาร์ฟ


การทำปลากัดหม้อฮาร์ฟ

ลักษณะของปลากัดหม้อฮาร์ฟมูน

     ลักษณะของปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาดบ้านเรา เริ่มที่ลำตัวของปลากัดประเภทนี้จะมีลำตัวหนาใหญ่คล้ายปลากัดหม้อ (รูปทรงปลาตะเพียน) ลักษณะกระโดงใหญ่ยาวไม่ชันขึ้น ลักษณะหางหลัง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของปลากัดชนิดนี้ คือ หางหลังใหญ่ และกางได้ 180 องศา หรืออาจกางได้มากกว่านั้น ลักษณะก้านหางของปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนก้านหางจะแตก 4 ขึ้นไป ส่วนลักษณะของชายน้ำที่เห็นมี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะของชายน้ำทิ้ง คล้ายปลากัดหม้อทั่วไป หรือลักษณะของชายน้ำรับกับหางหลังคล้ายกับปลากัดฮาร์ฟมูนครีบยาว



    การทำปลากัดหม้อฮาร์ฟมูน

     ปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนมีในประเทศเรามานานแล้ว ซึ่งสมัยก่อนปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนเกิดขึ้นมาจาก "ปลาหลุด" เพราะสมัยก่อนปลากัดฮาร์ฟมูนมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะปลาตัวเมีย และยิ่งไปกว่านั้นปลาตัวเมียฮาร์ฟมูนยังจัดว่าหายาก จึงทำให้มีพ่อค้าหัวใสจับคู่ปลากัดฮาร์ฟมูนให้ลูกค้า  โดยจะจับตัวเมียเป็นปลากัดหม้อแทนตัวเมียที่เป็นฮาร์ฟมูนแท้ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ หรือ พูดง่าย ๆ ว่า "นานาจิตตัง" เมื่อลูกค้าที่ซื้อไปเพาะเลี้ยงผลผลิตที่ได้ในรุ่นแรกพูดได้เลยว่าจะไม่ได้ปลากัดที่เป็นฮาร์ฟมูนแม้แต่ตัวเดียว อย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นซุปเปอร์ ซึ่งซุปเปอร์ในช่วงนั้นขายได้ตัวละไม่ต่ำกว่า 300 บาท และหากทำการคัดสายพันธุ์ไปผสมกันในรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะมีฮาร์ฟมูนออกมาให้เห็นได้บ้างอย่างมากก็ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนปลาทั้งหมด หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือเมื่อผสมกันไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดมีปลาหลุดที่เป็นปลากัดฮาร์ฟมูนออกมานั่นเอง แต่ในช่วงเวลานั้นตลาดยังไม่ตอบรับกับปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนเท่าที่ควรทั้งตลาดในประเทศ และนอกประเทศ จึงทำให้ไม่มีใครคิดที่จะทำให้เกิดเป็นปลาที่มีสายพันธุ์นิ่ง
     แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ปลากัดมห้อฮาร์ฟมูนมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตลาดปลากัดในต่างประเทศมีความนิยมมากกว่าปลากัดหม้อประเภทใดทั้งสิ้น

     วิธีทำปลากัดหม้อฮาร์ฟมูน

     ในยุคนี้การทำปลากัดขึ้นมาสักตัวดูจะง่ายไปหมดเพราะราคาพ่อ - แม่พันธุ์มีราคาถูกมากแถมมีพ่อ - แม่พันธุ์ให้เลือกมากมาย สำหรับคนที่ทำปลาเป็นอยู่แล้วคงจะมีความสุข แต่หากเราจะลองไล่สายพันธุ์เองเพื่อศึกษาให้รู้ หรือเพื่อต้องการทำสีใหม่ก็จะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ดังที่จะนำมาบอกตามนี้
1. เริ่มด้วยพ่อพันธุ์เป็น พ่อพันธุ์ฮาร์ฟมูน (หางยาว) อยู่ในฟอร์มที่สวย  โดยเฉพาะหางหลังให้กางเกิน 180 องศาได้ยิ่งดี และข้อสำคัญก้านหางแตกไม่ต่ำกว่า 8 ก้าน ถ้าได้ตามที่บอกจัดว่าแจ๋ว
2. แม่พันธุ์ใช้เป็นปลาหม้อธรรมดา (เครื่องสั้น) ถ้าต้องการทำสีด้วยก็คัดพ่อ - แม่พันธุ์ในสีที่ต้องการด้วยเลย
3. ทำการผสมพันธุ์ปลากัดที่คัดเลือกพ่อ - แม่พันธุ์ไว้แล้ว
4. คัดเลือกลูกในครอกที่ได้ในรุ่นที่หนึ่ง ถ้าโชคดีอาจจะได้หม้อฮาร์ฟออกมาเลยในรุ่นแรก หรือไม่ก็จะได้ออกมาในลักษณะลูกกึ่ง หรือก็คือปลาที่เครื่องไม่สั้น และไม่ยาว พยายามเลือกพ่อพันธุ์ให้เครื่องสั้นที่สุดพูดง่าย ๆ ใกล้เคียงกับปลาหม้อนั่นเอง  ส่วนแม่พันธุ์ค่อนข้างจะเลือกยาก เพราะดูแล้วจะใกล้เคียงกันหมด ต้องสังเกตดี ๆ และค่อย ๆ เลือกตัวเมียที่เครื่องสั้นที่สุดในครอกออกมาเป็นแม่พันธุ์
5. นำพ่อ - แม่พันธุ์จากรุ่นที่หนึ่งที่คัดเลือกไว้ มาทำพันธุ์ในรุ่นที่ 2 รุ่นนี้ประกันได้ว่าจะได้หม้อฮาร์ฟออกมาแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะได้เปอร์เซ็นต์มาก หรือน้อย
6. ทำการคัดเลือกพ่อ - แม่พันธุ์ที่รูปร่างสมส่วนในรุ่นที่ 2 มาทำในรุ่นที่ 3 เพื่อให้ได้สายเลือดนิ่งขึ้น หรือให้ได้เป็นปลากัดหม้อฮาร์ฟมูนมากยิ่งขึ้น และถ้าทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะได้สายพันธุ์ที่นิ่งมากขึ้น หรือก็คือจะได้ปลากัดหม้อฮาร์ฟทั้งครอกเลยก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น