การเลี้ยงปลาสวยงามได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงภายในครอบครัว ตามร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานต่าง
ๆ เนื่องจากตู้ปลาสวยงามจะสร้างความสวยงาม ความเพลิดเพลินให้แก่ผู้พบเห็น
บางคนเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรกภายในครอบครัว ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
เป็นการสร้างความรักความสามัคคีและความผูกพันธุ์ภายในครอบครัว เด็ก ๆ
ที่ได้เลี้ยงปลาสวยงามจะทำให้เขามีความรัก ความเมตตาต่อสัตว์ มีจิตใจอ่อนโยน
ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข
ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมปัจจุบัน จากความนิยมในการเลี้ยงปลาสวยงาม
ได้ก่อให้เกิดกิจกรรม และธุรกิจต่อเนื่องหลายอย่าง สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่บุคคลหลายกลุ่มธุรกิจ
เช่น ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลา ธุรกิจจำหน่ายปลา ธุรกิจขนส่ง
ธุรกิจผลิตและขายอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ธุรกิจยา อาหาร และสารเคมี และอื่น ๆ
อีกมากมาย
ซึ่งปรากฎชัดเจนแล้วว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับปลาสวยงามได้สร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศได้ดีทางหนึ่ง
การเลี้ยงปลาสวยงามแบ่งออกได้เป็น 2
กลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะน้ำที่ใช้เลี้ยงคือ
การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืดและการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล
ในอดีตเมื่อนึกถึงการเลี้ยงปลาสวยงาม
คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแต่การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืด ส่วนการเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจะเป็นสิ่งที่ไกลตัวและเป็นเรื่องยาก
แต่ปัจจุบันเมื่อคนเข้าใจในระบบนิเวศน์ของทะเลมากขึ้น
การเลี้ยงปลาทะเลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน
การเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากปลาทะเลจะมีความสวยงามกว่าปลาน้ำจืดนั่นเอง
แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการจับปลาจากทะเล และการเก็บสิ่งประดับตู้ปลาต่าง ๆ
จากทะเลเป็นจำนวนมาก
แม้ว่าจะสร้างรายได้อย่างงามให้แก่คนในธุรกิจนี้แต่ก็มีผลเสียต่อธรรมชาติเป็นอย่างมากเช่นกัน
ด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเลในปัจจุบันพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
คือเพาะพันธุ์ได้น้อยชนิด และผลิตได้จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด
ดังนั้นหากจะพัฒนาธุรกิจด้านการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเล
การเพาะพันธุ์ปะการัง รวมไปถึงพันธุ์ไม้น้ำทะเลด้วย
เมื่อนึกถึงปลาสวยงามทะเล คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปลาการ์ตูนเป็นลำดับต้น ๆ
เนื่องจากปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีสีสรรสวยงาม น่ารัก เชื่องง่าย
เมื่อการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามเริ่มขยายตัว
ปลาการ์ตูนจากธรรมชาติจึงถูกจับมาขายเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและเป็นปลาที่จับได้ง่าย ปัจจุบันนี้พบว่า ประชากรของปลาการ์ตูนชนิดต่าง
ๆ ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เกือบเข้าภาวะวิกฤติ จะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ในสังกัด
กองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง
ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ทั้งในด้านการอนุรักษ์และคุณค่าทางเศรษฐกิจ
จึงเริ่มศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนของไทยตั้งแต่ต้นปี 2544
โดยผสมผสานความรู้จากการศึกษาพฤติกรรมการวางไข่และการเจริญเติบโตของปลาการ์ตูนส้มขาวของอุ่นจิต
(2537) กับความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลากะรังของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่
จนถึงปัจจุบัน ( กรกฎาคม 2545) สามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 5 ชนิด คือ
ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง
ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียน ทั้ง 5 ชนิด สามารถผลิตปลาขนาด 1 นิ้ว
ได้จำนวนมากและมีอัตรารอดสูงอย่างสม่ำเสมอ วิธีการต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้
ชีววิทยา
ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่ถูกจัดอยู่ในครอบครัวปลาสลิดหิน (damselfishes, family pomacentridae) (สุภาพร, 2543)
ปัจจุบันปลาการ์ตูนทั่วโลกที่สำรวจพบ และได้รับการจำแนกแล้วมี 28 ชนิด เป็นสกุล (genus) Amphiprion จำนวน
27 ชนิด และ สกุล Premnas
อีก 1 ชนิด คือ spinecheek anemonefish, Premnas biaculeatus ซึ่งลักษณะที่ใช้แยกปลาสกุลนี้ออกมาคือ
มีหนามขนาดใหญ่ (enlarged
spine) บริเวณใต้ตา (Allen, 1997)อุ่นจิต(2537) กล่าวว่า
ปลาการ์ตูนที่พบในน่านน้ำไทยมี 7 ชนิด แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 5 ชนิด ได้แก่
ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน ปลาการ์ตูนลายปล้อง
ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง และปลาการ์ตูนแดงดำ ส่วนปลาการ์ตูนที่พบในอ่าวไทยมี 2
ชนิด คือ ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียนแดง แต่ ธรณ์(2544) กล่าวว่า
ปลาการ์ตูนลายปล้องสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนั้นยังพบปลาการ์ตูนส้มขาว
และ ปลาการ์ตูนอินเดียนที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส (อ่าวไทย) อีกด้วย
ปลาการ์ตูนพบได้เฉพาะในเขตมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน
ในธรรมชาติปลาการ์ตูนจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากดอกไม้ทะเล
ดังนั้นเราจะพบปลาการ์ตูนได้ก็ต่อเมื่อได้พบดอกไม้ทะเลเท่านั้น
แม้ว่าดอกไม้ทะเลจะมีเข็มพิษแต่กลับไม่ทำอันตรายต่อปลาการ์ตูน
ทำให้ปลาการ์ตูนอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในดอกไม้ทะเล จากการสำรวจพบว่า
ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะจำเพาะเจาะจงต่อชนิดของดอกไม้ทะเลที่จะอาศัยอยู่ด้วย
แต่ก็มีปลาการ์ตูนอีกหลายชนิดที่สามารถอาศัยอยู่กับดอกได้ทะเลได้หลายชนิด
ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะมีรูปแบบสีที่เป็นเอกลักษณ์
ซึ่งปกติจะประกอบไปด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง และส่วนใหญ่จะมีแถบสีขาวพาดขวางลำตัว
1-3 แถบ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของปลาการ์ตูนก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นปลาการ์ตูนชนิดเดียวกันแต่ก็จะมีส่วนที่มีสีแตกต่างกันอยู่เสมอ
ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ปลาการ์ตูนจำคู่ของมันได้
นอกจากนั้นปลาที่อาศัยต่างสถานที่กันอาจมีสีที่แตกต่างกันได้เรียกว่าความผันแปรของสี
(colour variation)โดยปกติปลาการ์ตูนจะอยู่กันเป็นคู่
ๆ และอาจมีปลาขนาดเล็กอาศัยร่วมอยู่ด้วย แต่ในดอกไม้ทะเลดอกหนึ่ง
จะมีปลาตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัวเท่านั้น
ปลาตัวเมียจะมีขนาดโตกว่าตัวผู้และตัวอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
และทำหน้าที่เป็นผู้นำ คอยปกป้องอาณาเขตที่เป็นที่อาศัยของมัน ถ้าปลาตัวเมียตายไป
จะมีปลาตัวใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตัวเมียแทน
หรือหมายความว่า ปลาการ์ตูนสามารถเปลี่ยนเพศจากเพศผู้เป็นเพศเมียได้ Allen(1997)
กล่าวว่า ปลาการ์ตูนจะวางไข่ครั้งละหลายร้อยฟองบริเวณฐานของดอกไม้ทะเล
ซึ่งมีหนวดของดอกไม้ทะเลปกคลุม ทำให้ไข่มีความปลอดภัย พ่อปลาจะคอยดูแลไข่
หลังจากนั้น 6-7 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวและล่องลอยไปตามน้ำ ใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์
จากนั้นปลาต้องหาดอกไม้ทะเลเพื่อเป็นที่อยู่ ไม่อย่างนั้นปลาจะตายเนื่องจากอดอาหาร
หรือถูกกิน
ปลาการ์ตูนส้มขาว clown anemonefish, A. ocellaris
(Cuvier, 1830)
ลำตัวมีสีส้มเข้ม มีแถบสีขาว 3 แถบ พาดบริเวณส่วนหัว ลำตัวและบริเวณหาง
ขอบของแถบสีขาวเป็นสีดำ ขอบนอกของครีบเป็นสีขาวและขอบในเป็นสีดำ อาศัยในที่ลึก
ตั้งแต่ 1-15 เมตร ขนาดตัวโตที่สุดประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด
Heteractis magnifica และ
Stichodactyla gigantea เป็นต้น
ปลาการ์ตูนส้มขาวพบได้บ่อยที่สุดในทะเลอันดามัน อ่าวไทยพบได้ที่เกาะโลซิน
จังหวัดนราธิวาส อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่
ในดอกไม้แต่ละกออาจพบปลาการ์ตูนชนิดนี้อยู่ด้วยกัน 6-8 ตัว
ปลาการ์ตูนลายปล้อง clark's anemonefish, A. clarkii
(Bennett, 1830)
ลำตัวมีสีดำเข้ม ส่วนหน้าครีบอกและหางมีสีเหลืองทอง มีแถบขาว 3 แถบ
ตรงส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง ปลาชนิดนี้มีความผันแปรของสีสูง มีไม่ต่ำกว่า 8 รูปแบบ
(ธรณ์, 2544)
สีของลูกปลาวัยรุ่นก็ต่างจากปลาเต็มวัย พบทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
จัดเป็นปลาการ์ตูนใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ขนาดโตที่สุดประมาณ 15 ซ.ม.
อาศัยอยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลได้หลายชนิด บางครั้งเป็นชนิดที่พบตามพื้นทราย
ปลาการ์ตูนลายปล้องมีการแพร่กระจายกว้างมาก อาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 3-4 ตัว
โดยมีตัวเมีย ซึ่งมีขนาดโตที่สุด เป็นจ่าฝูง ตัวที่มีขนาดรองลงมาจะเป็นตัวผู้
ถ้าตัวเมียตายไปตัวผู้ก็จะรีบโตและเปลี่ยนเพศขึ้นมาทำหน้าที่แทน
ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง sebae anemonefish, A. sebae (Bleeker,
1853)
ลำตัวมีสีดำ ส่วนหางมีสีเหลือง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกพาดอยู่บริเวณหลังตา
อีกแถบพาดผ่านท้องขึ้นมายังครีบหลัง เป็นชนิดที่หายาก พบเฉพาะฝั่งอันดามันในที่ลึกตั้งแต่
2-25 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 14 เซนติเมตร อยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังทรายได้แก่
Stichodactyla haddoni มีสีน้ำตาลหนวดสั้น
มักอยู่กันเป็นคู่กับลูกเล็ก ๆ 3-4 ตัว
มีนิสัยดุร้ายกับปลาอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว
ปลาการ์ตูนหลังอาน saddleback anemonefish, A. polymnus
(Linnaeus, 1758)
ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกอยู่หลังตา
อีกแถบเริ่มบริเวณกลางลำตัวเป็นแถบโค้งพาดเฉียงขึ้นไปที่ครีบหลัง
ลักษณะคล้ายอานม้า พบในที่ลึก ตั้งแต่ 2-30 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 12 เซนติเมตร
อยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย คือ Heteractis crispa และ
Stichodactyla haddoni พบเฉพาะในอ่าวไทย
ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทองอมชมพู มีแถบขาวเล็ก ๆ พาดผ่านบริเวณหลังตั้งแต่ปลายจมูกจนจรดครีบหาง
อาศัยในที่ลึกตั้งแต่ 3 - 25 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 10-11 เซนติเมตร
อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis
magnifica และ Stichodactyla mertensii อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่คล้ายปลาการ์ตูนส้มขาว
พบได้บ่อยทางฝั่งอันดามัน ส่วนอ่าวไทยพบที่เกาะโลซิน
การเพาะพันธุ์และอนุบาล
1.การจัดการพ่อแม่พันธุ์
1.1 การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์
รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ
พยายามรวบรวมให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่กันอยู่แล้วจะช่วยให้พ่อแม่พันธุ์วางไข่ได้เร็วขึ้น
แต่ถ้าไม่สามารถหาพ่อแม่พันธุ์เป็นคู่ ๆ จากธรรมชาติได้
การจับคู่ให้ปลาการ์ตูนก็สามารถที่จะทำได้
เพศเมียจะมีขนาดใหญ่และอาจมีท้องที่อูมเป่ง
ส่วนตัวผู้เลือกตัวที่มีขนาดเล็กและท้องเรียบ
หลังการจับคู่ให้ปลาแล้วต้องคอยสังเกตว่าปลาจะยอมรับกันหรือไม่
ถ้าปลาไม่ยอมรับจะพบว่าปลาตัวเมียจะไล่กัดตัวผู้
บางครั้งตัวผู้อาจตายได้เนื่องจากโดนกัดหรือกระโดดหนีออกนอกตู้
1.2 การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
1.2.1 การจัดตู้
ใช้ตู้กระจกขนาด 45x90x45
เซนติเมตร ใช้ระบบกรองน้ำแบบกรองทรายภายในตู้ โดยใส่แผงกรองรองรับพื้นตู้ใช้กรวด
ซากปะการัง หรือ เศษเปลือกหอยเป็นวัสดุกรอง
ใส่วัสดุสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์วางไข่ไว้ข้าง ๆ ดอกไม้ทะเล เช่น
ก้อนหิน(ไม่จำกัดรูปทรงแต่ให้ผิวเรียบ)หรือเปลือกหอยตะโกรม(ปลาจะวางไข่ด้านในของเปลือกหอย)
เปลือกหอยมือเสือเป็นอีกวัสดุหนึ่งที่ปลาชอบใช้วางไข่แต่ไม่ควรนำมาใช้
เนื่องจากการมีเปลือกหอยมือเสือในครอบครองเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ควรเลือกใช้หินผิวเรียบ หรือเปลือกหอยนางรมจะดีกว่าเนื่องจากหาได้ง่ายและไม่ผิดกฎหมาย
ดอกไม้ทะเลเป็นสิ่งสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่ง
บุคคลทั่วไปไม่สามารถมีในครอบครองได้
ดังนั้นจึงเป็นปัญหาหนึ่งของการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน
แต่จากการทดลองเบื้องต้นของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่พบว่า
พ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนส้มขาวที่เลี้ยงในตู้กระจกโดยไม่ใช้ดอกไม้ทะเล
ปลาสามารถที่จะวางไข่ในตู้กระจกได้
ส่วนการอนุบาลลูกปลาการ์ตูนและการเลี้ยงปลาการ์ตูนที่ได้จากโรงเพาะฟักพบว่าไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้ทะเล
1.2.2 น้ำและการจัดการ
น้ำที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจัวหวัดกระบี่เป็นน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ
30-33 ppt ก่อนนำมาใช้จะทำการฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีน
ความเข้มข้น 15-25 ppm และเป่าลมจนคลอรีนสลายหมด
ในตู้กระจกจะใส่น้ำประมาณ 150 ลิตร เปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง(ไม่ต้องนำปลาออกจากตู้)ในช่วงบ่าย
ครั้งละ 70-80 % พร้อมกับทำความสะอาดตู้(บริเวณด้านข้างของตู้)
ควรล้างทรายในตู้เดือนละประมาณ 1 ครั้ง
(นำปลาออกจากตู้ก่อน)น้ำที่นำมาใช้นอกจากการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนแล้ว
น้ำที่ผ่านระบบกรองทรายก็น่าจะใช้ได้ผลดี สำหรับในแหล่งที่จัดหาน้ำทะเลไม่ได้
การใช้น้ำทะเลเทียมประกอบกับระบบกรองที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการกรองทรายก็มีความเป็นไปได้
ทั้งนี้ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ในการควบคุมสภาพน้ำในระบบปิดเป็นอย่างดี
1.2.3 อาหารและการให้อาหาร
ใช้เนื้อกุ้งสับละเอียดหรืออาร์ทีเมียตัวใหญ่(ตัวเต็มวัย)
เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ให้อาหารจนอิ่ม วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 09.00 น.
และ 15.00 น. มีบางรายงานที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยหัวใจวัว หรืออาหารชนิดอื่น ๆ
แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบผลของอาหารแต่ละชนิดต่อความสมบูรณ์ของปลา แต่จากการใช้เนื้อกุ้งและอาร์ทีเมียในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์พบว่าปลามีสุขภาพสมบูรณ์ดี
ให้ไข่สม่ำเสมอและได้ลูกปลาวัยอ่อนที่แข็งแรงดี นอกจากนั้น
เนื้อกุ้งสามารถจัดหาได้ง่าย
และสามารถเลือกซื้อกุ้งขนาดเล็กที่มีราคาถูกมาเป็นอาหารพ่อแม่พันธุ์ได้
2.การวางไข่และการพัฒนาของไข่
ก่อนที่ปลาจะวางไข่ 2-5 วัน ปลาตัวผู้จะเลือกวัสดุและทำความสะอาด
โดยใช้ปากตอด ใช้ครีบอกและครีบหางโบกพัดสิ่งอื่น ๆ
ที่ติดอยู่บนผิวหน้าของวัสดุให้หลุดไป เมื่อใกล้วางไข่
ปลาตัวเมียจะมีท้องที่อูมเป่ง ใหญ่กว่าปกติ และมีท่อนำไข่ไผล่ออกมายาวประมาณ 4-5
มิลลิเมตร หลังจากนั้น ปลาจะเริ่มวางไข่ภายใน 1 ชั่วโมง
แม่ปลาจะวางไข่ติดกับวัสดุที่เลือกไว้แล้ว โดยวางเป็นชุด ๆ
พ่อปลาก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม เมื่อวางไข่เสร็จพ่อปลาจะเฝ้าดูแลไข่
ด้วยการโบกพัดด้วยครีบ ใช้ปากตอด และเก็บไข่เสียออก แม่ปลาจะเข้ามาช่วยโบกพัดเป็นครั้งคราว
ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน ไข่ก็พร้อมที่จะฟักออกเป็นตัว
ปลาการ์ตูนสามารถที่จะวางได้ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-1,000 ฟอง
ขึ้นกับขนาดและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ในการวางไข่ชุดแรก ๆ
พบว่าปลามักจะกินไข่ตัวเองจนหมด เนื่องจากอาการตกใจ แต่เมื่อวางไข่ชุดหลัง ๆ
ปลาจะเริ่มเคยชินกับการถูกรบกวนและจะไม่กินไข่ตัวเองอีก
3.การฟักไข่
หลังจากปลาวางไข่แล้ว 7-8 วัน ไข่พร้อมที่จะฟักเป็นตัว
สังเกตได้จากตาของตัวอ่อนในไข่มีสีเงินวาว
ในตอนเย็นนำไข่ที่พร้อมจะฟักออกเป็นตัวซึ่งติดอยู่กับก้อนหินหรือเปลือกหอยไปฟักในถังขนาด
500 ลิตร เติมน้ำทะเลสะอาด 300 ลิตร ในการฟักใช้หลักการเดียวกับ อุ่นจิต(2537)
โดยอาศัยแรงลมดันน้ำให้ไหลผ่านไข่ปลาเบา ๆ (รูปที่ 6)
ลูกปลาจะฟักออกจากไข่ในเวลากลางคืน จากนั้นจึงนำวัสดุ และอุปกรณ์การฟักออก
4.การอนุบาล
4.1 บ่ออนุบาล
ถังไฟเบอร์กลาสสีน้ำตาล หรือ ถัง PE สีดำ ขนาดความจุ 500 ลิตร
ใช้เป็นถังฟักและอนุบาลลูกปลาตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 15 วัน
หลังจากนั้นจึงย้ายลูกปลาไปอนุบาลต่อในคอกในบ่อดิน(คอกทำด้วยอวนในล่อน
ขนาดตาละเอียด หรือเลือกขนาดตาที่เหมาะสมที่ปลาไม่สามารถหนีออกไปได้)การอนุบาลในช่วง
5 วันแรก ควรปิดปากถังด้วยผ้าพรางแสงสีดำ 1 ชั้น
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงของแสงในบ่ออย่างรวดเร็ว
และป้องกันสิ่งสกปรกอื่น ๆ
4.2 น้ำและการจัดการ
การอนุบาลในถังควรเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ วันเว้นวัน
พร้อมกับดูดตะกอนก้นถัง การดูดตะกอนจะเริ่มทำเมื่อปลาอายุประมาณ 5-6 วัน
หรือเห็นว่าพื้นถังเริ่มสกปรก การถ่ายน้ำและการดูดตะกอนต้องทำอย่างนิ่มนวล
เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันในถังอนุบาล ซึ่งจะทำให้ปลาช็อกได้
4.3 อาหารและการให้อาหาร
ปลาอายุ แรกฟัก ถึง 7 วัน ใช้โรติเฟอร์เป็นอาหาร ความหนาแน่น ประมาณ 5-15
ตัว/มล. พร้อมกับเติมคลอเรลลาให้น้ำมีสีเขียวอ่อน ๆ เพื่อเป็นอาหารของโรติเฟอร์
ควรเช็คความหนาแน่นของโรติเฟอร์วันละ 2-3 ครั้ง เริ่มฝึกให้ปลากินอาร์ทีเมียแรกฟัก
เมื่อลูกปลาอายุ 5 วัน เมื่อลูกปลากินอาร์ทีเมียได้ดีแล้วจึงหยุดให้โรติเฟอร์ อายุ
15 วัน ย้ายไปอนุบาลในคอก
ถ้าไม่มีคอกอาจจะอนุบาลต่อในถังหรือบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ขึ้นก็สามารถทำได้
โดยให้มีความหนาแน่นลูกปลาประมาณ 0.5-2 ตัว/ลิตร แต่การอนุบาลในคอกจะลดการทำงานในส่วนของการถ่ายน้ำ
และมีต้นทุนที่ถูกกว่าหลังจากย้ายลูกปลาลงไปอนุบาลในคอกแล้วยังต้องให้อาร์ทีเมียตัวเล็กเป็นอาหารอีกประมาณ
5 วัน จึงฝึกให้กินไรแดงแช่แข็งและเนื้อปลาสดบดละเอียด วันละ 2-3 ครั้ง
ถ้าสามารถจัดหาอาร์ทีเมียตัวใหญ่เป็นอาหารลูกปลาได้จะช่วยให้ลูกปลาโตเร็วขึ้น
ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาในคอกประมาณ 40-45 วัน จะได้ลูกปลาขนาด 1 นิ้ว
สามารถจำหน่ายได้ หรือเลี้ยงให้โตกว่านี้ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น
ในฉบับก่อนผู้เขียนก็ได้นำเอาเรื่องของปลากาแดง
ปลานวลจันทร์ ฉลามครีบแดงมาฝากกัน
สำหรับฉบับนี้เองผู้เขียนก้อได้นำเจ้าปลาการ์ตูนมาให้รู้จักกันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น