สวัสดีครับเพื่อนๆที่รักในปลาสวยงามทุกท่าน ในฉบับนี้เรามาพุดถึงเรื่องปลาแพะ เมื่อตอนพูดถึงปลาแม่บ้าน
ปลาแม่บ้านไม่ใช่ปลาถูพื้นเช็ดกระจก เสิร์ฟกาแฟ แต่ปลาแม่บ้านคือ
ปลาที่มีหน้าที่ทำความสะอาดในตู้หรือบ่อปลาด้วยการกินเอาเศษอาหารตกหล่นบ้าง
ตะไคร่น้ำที่เกาะตามผิวกระจกบ้างเป็นอาหารหลัก พฤติกรรมในแบบธรรมชาติของมันทำให้ตู้ปลาของเราสะอาดดูดีขึ้นโดยที่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งวุ่นวายเลยสักนิด
ปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาแม่บ้านมีหลายชนิดมากครับ แต่โดยหลักๆ
แล้วก็จะทำหน้าที่ไม่กี่อย่าง ปลาแพะ เป็นหนึ่งในนั้น
คุณสมบัติโดดเด่นของมันคือเป็นปลาที่ชอบเก็บเศษอาหารตามก้นตู้กินมากกว่าที่จะว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำอย่างปลาชนิดอื่นๆ
เขา (แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ปลาถูกเลี้ยงจนเชื่องทำให้ลืมกำพืดตัวเอง
เผยอหน้าขึ้นมากินอาหารร่วมกับปลาไฮโซ)
ทำให้บริเวณพื้นตู้ซึ่งบางครั้งก็ปูด้วยกรวดบ้างทรายบ้าง สะอาดหมดจดปราศจากเศษอาหารตกหล่นคั่งค้างจากการกินเหลือทิ้งขว้างของปลาตัวอื่นๆ
อันจะเป็นสาเหตุของการเน่าเสียของน้ำเร็วขึ้น
ปลาแพะ มีขนาดเล็ก และนิสัยไม่ดุร้าย
จึงทำให้เข้ากับปลาอื่นได้เกือบทุกชนิดที่ไม่ใช่ปลากินเนื้อหรือดุเกรี้ยวกราดไร้เหตุผล
และเหมาะอย่างยิ่งกับตู้ที่จัดตกแต่งไว้อย่างรกครึ้ม เช่น
ตู้พรรณไม้น้ำหรือตู้แบบป่าฝนเขตร้อนที่มักจัดด้วยขอนไม้และพืชน้ำสลับซับซ้อนจนมองแทบไม่เห็นพื้นกรวด
และการทำความสะอาดตู้ก็มักอาศัยวิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำเพียงส่วนเดียว
ไม่สามารถใช้สายยางลักน้ำ (Water Siphon) ดูดเอาของเสียจากใต้พื้นกรวดออกมาได้เลย
ปลาแพะจะมีบทบาทมากเพราะสามารถซอกซอนชอนไชกินเศษอาหารได้ทุกหลืบมุม
จนกลายเป็นแม่บ้านขวัญใจของนักเลี้ยงตู้พรรณไม้น้ำมานานปี
ปลาแพะ จัดอยู่ในกลุ่มของปลาหนัง (catfish) หรือปลาไม่มีเกล็ดขนาดเล็ก
แต่มันก็สามารถพัฒนาผิวหนังไร้เกล็ดของมันให้แข็งเหมือนเกราะเพื่อปกป้องอันตรายจากศัตรูได้ดียิ่งกว่าเกล็ดจริงๆ
เสียอีก อาวุธป้องกันตัวของมันแทบไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากก้านแข็งของครีบว่ายน้ำ
ทำให้ปลาอื่นที่หวังจะเคลมมันเข้าท้องทำได้ด้วยความยากลำบาก
ผมเคยเห็นปลาทองจอมซุ่มซ่ามเผลอเขมือบเอาเจ้าแพะน้อยเข้าปากด้วยเข้าใจว่าเป็นอาหาร
ปลาแพะตัวนั้นไม่ได้ใหญ่คับปากแต่อย่างใด
แต่ก้านครีบแข็งของมันนั้นยาวพอที่จะค้ำกระพุ้งแก้มปลาทองเอาไว้จนกลืนก็ไม่เข้าและคายก็ไม่ออก
สุดท้ายก็เลยเดินทางไปสู่ยมโลกพร้อมกันอย่างน่าเศร้าใจ
ลักษณะภายนอกของปลาแพะนั้นดูตลก รูปร่างของมันค่อนข้างป้อม ลำตัวกลม
ส่วนหัวค่อนข้างโตกว่าลำตัว ที่ปากมีหนวดสั้นๆ ยื่นออกมาสำหรับคลำหาอาหาร
หนวดที่ว่านี้ดูผิวเผินคล้ายเคราของแพะ
นักเลี้ยงปลาบ้านเราเลยนิยมเรียกเจ้าปลาชนิดนี้ว่า "ปลาแพะ"
ในขณะที่ฝรั่งจะเรียกมันว่า "คอรี่" ซึ่งก็มาจากชื่อสกุลของมันคือ Corydoras
นั่นเอง
ปลาแพะ เป็นปลาขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 3-5
เซนติเมตร แต่ก็มีบางชนิดที่อาจใหญ่กว่านั้นเล็กน้อย ปลาแพะ
มีจำนวนชนิดพันธุ์มากมายหลายสิบชนิด แต่ละชนิดแตกต่างกันทางรูปร่างและลวดลายสีสัน
บางชนิดอ้วนป้อมมาก เช่น แพะเขียวโบรคิส (Brochis splendens) ซึ่งเป็นแพะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
โตเต็มที่ตัวเมียจะมีความยาวถึง 9 เซนติเมตร จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า
เซนติเมตรเซนติเมตร "ปลาแพะยักษ์" ส่วนแพะที่มีรูปร่างตรงกันข้ามกันคือ
แพะบาร์บาตัส (Corydoras barbatus) ซึ่งมีลำตัวเรียวยาวผอมเพรียวลม
แหล่งอาศัยตามธรรมชาติของปลาแพะอยู่ในทวีปอเมริกาใต้
โดยเฉพาะลุ่มน้ำอะเมซอนที่มีสาขามากมายกว้างใหญ่ไพศาล
พวกมันจะหากินเป็นฝูงตามหน้าดิน
โดยใช้ซากต้นไม้ใบไม้ที่ซ้อนทับถมกันเป็นเครื่องกำบังซ่อนตัวจากผู้ล่า ปลาตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
รูปร่างอ้วน ท้องกลมจนดูหัวเล็ก ส่วนตัวผู้ลำตัวจะเรียวกว่ามาก
ปลาแพะ เลี้ยงง่าย มีความอดทนสูง ไม่ค่อยจะมีปัญหามากนัก
แม้กระทั่งในบ่อที่ออกซิเจนต่ำก็สามารถเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี
เพราะมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ และหากเศษอาหารไม่ค่อยจะมีให้กิน
พวกมันก็ยังสามารถปรับตัวโผขึ้นมาแย่งอาหารจากผิวหน้าน้ำเหมือนกับปลาอื่นๆ
ได้เช่นกัน การเลี้ยงปลาแพะควรระมัดระวังเรื่องของกรวดที่ใช้ปูพื้น
หลีกเลี่ยงกรวดมีคมหรือหินเกล็ดซึ่งอาจทำอันตรายกับหนวดของปลาแพะเวลาคุ้ยหาอาหารได้
ในธรรมชาติปลาแพะไม่ค่อยชอบแสง ในตู้ควรมีวัสดุตกแต่งจำพวกพืชน้ำ ขอนไม้
หรือก้อนหินใหญ่
เพื่อพรางแสงลงและเพื่อให้ปลาได้ใช้หลบซ่อนตัวเวลาที่มันกินอิ่มต้องการพักผ่อน
ปลาแพะเลี้ยงรวมกับปลาอื่นๆ ได้แทบทุกชนิดที่ไม่ดุร้าย อาหารของมันนอกจากเศษตกๆ
หล่นๆ ที่ปลาอื่นในตู้กินเหลือแล้วอาจจะต้องเสริมเพิ่มพิเศษให้บ้างเพื่อความสมบูรณ์ของตัวมันเอง
ในธรรมชาติปลาแพะกินสิ่งมีชีวิตที่หลบซุกซ่อนตัวอยู่บริเวณผิวหน้าของดิน เช่น
ตัวอ่อนแมลงน้ำ ไส้เดือน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
เราอาจเสริมอาหารปลาแพะด้วยไส้เดือนน้ำโดยโรยไส้เดือนลงบนพื้นกรวดโดยตรงเพื่อให้ไส้เดือนชอนไชลงใต้ผิวกรวด
ปลาแพะจะใช้หนวดของมันคลำหาและจับกินด้วยพฤติกรรมตามอย่างธรรมชาติของมัน
นอกเหนือจากไส้เดือนน้ำอาจสลับให้อาหารสำเร็จรูปที่ออกแบบมาสำหรับปลาแพะโดยเฉพาะซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายปลา
ลักษณะคล้ายแผ่นกลมๆ เล็กๆ อัดแน่น จมน้ำเร็วแต่ละลายช้ามาก
อาหารประเภทนี้มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับปลาแพะมากที่สุด
แต่ก็อาจจะราคาสูงสักนิด การให้ไม่จำเป็นต้องให้ทุกมื้อหรือทุกวัน
แต่ให้แบบสลับนานๆ ที เพื่อให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงอ้วนท้วนและอายุยืนนาน
ปลาแพะที่ถูกเลี้ยงสมบูรณ์ดีจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึงสิบปีทีเดียวเชียวครับ
การผสมพันธุ์ของปลาแพะทำได้เป็นบางชนิด
ปลาตัวเมียเมื่อมีไข่สุกท้องจะอวบอูมป่องออกมาผิดสังเกต
ในระยะนี้จะมีแพะตัวผู้เข้าไปเคลียคลอก้อร่อก้อติกอยู่เกือบตลอดเวลาและมักมีตัวผู้มากกว่าหนึ่งตัวต่อการผสมพันธุ์หนึ่งครั้ง
เมื่อถึงเวลา ปลาตัวผู้จะเข้าไป สั่นร่างเป็นสัญญาณเชิญชวน และถ้าตัวเมียพร้อมมันก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยับเข้าหา
ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกให้ตัวเมียอมไว้ในปาก
จากนั้นตัวเมียจะออกไข่มาจำนวนหนึ่งแล้วอุ้มไว้ด้วยครีบท้องที่มีลักษณะกลมกว้างคล้ายตะกร้า
มองหาทำเลวางไข่ซึ่งก็มักจะเป็นบริเวณที่มีพรรณไม้ร่มครึ้มและมีใบแผ่ เช่น
ต้นอะเมซอน (Echinodoras spec.) พอเจอที่จะวางไข่
แม่ปลาจะพ่นน้ำเชื้อในปากลงบนใบไม้ก่อนเอาไข่ที่อุ้มไว้แปะลงไป
หลังจากนั้นก็ทำวิธีการเดียวกันซ้ำอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งไข่หมดท้อง ซึ่งก็จะมีราวๆ 300
ฟอง พวกมันไม่ค่อยสนใจดูแลไข่นัก ปล่อยให้ฟักเป็นตัวออกมาเองภายในสามวัน
ลูกปลาระยะแรกจะยังมีถุงอาหารที่เรียกว่าถุงไข่แดงติดอยู่ตรงท้อง
และจะใช้อาหารเหล่านี้หมดไปภายในสามสี่วัน
หลังจากนั้นก็จะต้องว่ายหาจับกินแพลงตอนที่ลอยมาตามน้ำกินกันไปตามอัธยาศัย
ปลาแพะ ที่มีเลี้ยงกันทั่วไปและราคาไม่แพงเลยก็คือ ปลาแพะสีบรอนซ์
หรือแพะเอนีอุส (Corydoras aeneus) บ้านเราเรียกว่า "แพะเขียว"
ซึ่งก็มีสายพันธุ์ที่ผ่าเหล่าออกมาจากเอนีอุสเป็นปลาเผือก (Albino) ลำตัวสีขาวนวลอมชมพูนัยน์ตาสีแดง
ก็เรียกว่า "แพะเผือก" สองตัวนี้เพาะง่ายที่สุด สามารถเพาะเล่นๆ
ในตู้ได้เลย ถ้าปลามีอายุมากพอ ส่วนปลาแพะอื่นๆ โดยมากมักเพาะพันธุ์ยากถึงยากมาก
บางชนิดถึงได้มีราคาแพง ตัวหนึ่งเป็นร้อยๆ บาท
ในขณะที่แพะเขียวแพะเผือกแค่ไม่กี่บาท แต่ทุกชนิดเลี้ยงง่ายเหมือนกันหมดครับ
สำหรับใครที่สนใจจะรับเจ้าปลาแพะมาเลี้ยงเพื่อเป็นเมทให้ปอมน้อยนั้น
แนะนำว่าเลือกตัวใหญ่สักนิดครับ
แล้วจะเกิดการสูญเสียน้อยกว่าเอาตัวเล็กๆมาลงครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น