วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปลารัมมี่โน




คนที่ตั้งชื่อปลาตัวเล็กๆหน้าตาคล้ายปลาซิวชนิดนี้ว่า รัมมี่โนส เตตร้าหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า รัมมี่โนสนั้น นอกจากจะช่างคิดแล้ว ยังต้องเป็นคนรวยอารมณ์ขันแน่ๆทำไมน่ะหรือ?
หากมองเผินๆ ปลาอย่างรัมมี่โนสดูเป็นปลาที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ ยิ่งถ้าใครได้เห็นตอนที่เพิ่งใส่พวกมันลงไปในตู้ใหม่ๆคงต้องส่ายหัวกันทุกราย เพราะนอกจากจะไร้สีสันจนถึงขั้นจืดสนิทแล้ว ยังไม่มีจุดเด่นเอาเสียเลย
แต่ถ้าลองปล่อยให้พวกมันใช้เวลาปรับตัวในตู้อีกสักหน่อย คนที่เคยเห็นในตอนแรกอาจต้องร้องด้วยความประหลาดใจว่า นี่หรือคือปลาที่ฉันเคยเห็น เพราะนอกจากส่วนหน้าที่แดงเด่นขึ้นมาผิดหูผิดตาเป็นสีเชอร์รี่สดแล้ว หางยังมีลายสีขาวสลับดำให้ดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบ
ยิ่งถ้าได้อยู่ในตู้ที่เต็มไปด้วยพรรณไม้น้ำสีเขียวชอุ่ม สีของปลาชนิดนี้ก็จะยิ่งตัดกันมากขึ้นอีกหลายเท่า ทำให้คนที่นิยมเลี้ยงพรรณไม้น้ำทั้งหลายต่างนิยมนำปลาชนิดนี้ไปเลี้ยงเพื่อเพิ่มสีสันให้กับตู้ไม้น้ำใบงามของตน
ถึงแม้ปลาชนิดนี้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแม่น้ำเนโกรและเมตา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของมหานทีอย่างอะเมซอนที่เข้าถึงได้ยาก แต่ปลาจำนวนมากก็ถูกรวบรวมจากธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของตลาดปลาสวยงามทั่วโลกในแต่ละปี โชคยังดีที่มีหลายประเทศเริ่มเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ในที่เลี้ยงแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มผลผลิตเพื่อทดแทนการจับปลาจากธรรมชาติได้ในอีกไม่นาน เพราะปลาส่วนมากที่ขายกันอยู่ในตลาดโลกก็เริ่มเป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ในประเทศแถบเอเชียแล้ว รวมทั้งยังมีปลาผ่าเหล่าอย่าง รัมมี่โนสเผือกมาขายอีกต่างหาก
รัมมี่โนสเผือกจะมีสีเหลืองอมส้ม ตาสีแดง แม้จะมีเสน่ห์น้อยกว่าพวกออริจินัล แต่ก็เหมาะสำหรับพวกชอบของแปลก ไม่ซ้ำใคร ก็ดูแปลกตาไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่ารัมมี่โนสเผือกพวกนี้ช่างไม่เหมาะกับการเลี้ยงในตู้ต้นไม้น้ำเลย ความที่ดูไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติสักเท่าไรนัก ถ้าเอาไปปล่อยในตู้ที่ตกแต่งด้วยของประดับเด็กเล่นน่าจะเหมาะมากกว่า
เมื่อก่อนรัมมี่โนสธรรมดามีราคาแพงมาก แพงขนาดไหนบอกได้แต่ว่าราคาขายปลีกอยู่ที่หลักร้อย ส่วนราคาขายส่งจะเท่าไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามีคนรู้จักปลาตัวนี้ไม่มากนัก ซ้ำยังไม่ค่อยจะมีให้เห็น แถมยังหายากหาเย็น ถ้าอยากได้ต้องคอยจ้องดูให้ดีๆ
รัมมี่โนสเป็นปลาฝูง ใครที่สนใจควรจะเลี้ยงรัมมี่โนสเป็นกลุ่ม ยิ่งมีจำนวนเยอะยิ่งดี ปลาจะว่ายน้ำรวมกันและขับสีสันให้เราดูอย่างเป็นธรรมชาติ หรือจะเลี้ยงปนกับปลาขนาดเล็กอื่นๆอย่างนีออนเตตราหรือคาร์ดินัลก็ย่อมได้ ไม่ผิดกติกาอะไร
ในฉบับนี้ผู้เขียนก็ได้นำปลารัมมี่โนสมาให้รู้จักกันเอาไว้พบกันใหม่ในฉบับหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น