วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการเลี้ยงกุ้งเครฟิช





   แต่เดิมคนไทยที่คิดจะเลี้ยงกุ้งเครฟิสมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นกุ้งสวยงามจะต้องมีการสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาก อีกทั้งยังพบปัญหาในการรอดต่ำ คุณมาโนช ลักษณกิจ ชาวอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ในการเพาะขยายพันธุ์ปลารันชู, กุ้งแคระและกุ้งเครฟิส ทำให้ราคาซื้อ-ขายกุ้งเครฟิสที่เพาะขยายพันธุ์ได้ในบ้านเรามีราคาถูกลงมาถึง 1-2 เท่าตัว คุณภาพของกุ้งไม่แพ้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ คุณมาโนช ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจที่คิดจะเลี้ยงกุ้งเครฟิสเป็นกุ้งสวยงามควรจะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งสวยงามที่เลี้ยงง่ายก่อน เช่น กุ้งบลูล็อบเตอร์หรือกุ้งมังกรฟ้า ซึ่งเป็นกุ้งล็อบเตอร์น้ำจืด เลี้ยงกุ้งชนิดนี้ให้เกิดความชำนาญเสียก่อนและค่อยมาเลี้ยงกุ้งเครฟิสสายพันธุ์อื่นต่อไป

    สำหรับวิธีการเลี้ยงกุ้งเครฟิสในตู้  เลี้ยงปลา ควรจะใช้ตู้ที่มีขนาด 24 นิ้วขึ้นไปและมีระบบกรองน้ำในตัว ในแต่ละตู้จะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้เพียง 1-2 ตัวเท่านั้น เนื่องจากนิสัยของกุ้งเครฟิสจะคล้ายกับปลาหมอสี ที่มักจะหวงถิ่นและชอบรังแกตัวที่อ่อนกว่า บางครั้งพบการกินกันก็มี ตู้ปลาควรรองพื้นตู้ด้วยก้อนกรวดหินสีต่าง ๆ สำหรับผู้เลี้ยงที่รักศิลปะอาจจะเลือกสีของกรวดให้ตัดกับตัวกุ้งเครฟิสก็ได้ พันธุ์ไม้น้ำไม่เหมาะที่จะนำมาใส่ไว้ในตู้เพราะกุ้งเครฟิสจะใช้ก้ามตัดและรื้อทำลายจนหมดควรหากระถางหรือแจกันดินเผาหรือท่อ PVC หรือขอนไม้เพื่อให้กุ้งได้เป็นที่หลบซ่อนตัว
    อาหารหลักที่ใช้เลี้ยงกุ้งเครฟิสจะใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปประเภทอาหารจม และควรจะเสริมด้วยอาหารสด เช่น หนอนนก เพื่อเพิ่มโปรตีนช่วยให้กุ้งมีสีสด โตเร็วและก้ามโต แต่ข้อควรระวังในการใช้อาหารสดคือน้ำที่ใช้เลี้ยงอาจจะเสียได้ จะต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยในการเปลี่ยนแต่ละครั้งควรเปลี่ยนน้ำเก่าออกประมาณ 20-30% ของตู้แล้วเติมน้ำสะอาดใหม่ลงไปทดแทนถ้าใช้น้ำคลอรีนควรพักน้ำในบ่อนานประมาณ 7-10 วัน

    คนที่เลี้ยงกุ้งเครฟิสจะหลงเสน่ห์ของกุ้ง  สวยงามชนิดนี้ ผู้เลี้ยงจะได้เห็นพัฒนาการของกุ้งในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่ลูกกุ้ง, หลังการลอกคราบทุกครั้ง  ขนาดของตัวกุ้งจะใหญ่ขึ้นและมีสีสันที่เปลี่ยนไป เสน่ห์อยู่ตรงที่ผู้เลี้ยงจะได้ลุ้นว่าตัวกุ้งจะขนาดใหญ่ขึ้นเท่าไรและสีสวยสดมากขึ้นหรือไม่ ในการเลี้ยงกุ้งเครฟิสนั้นมักจะนิยมเลี้ยง 1 ตัวต่อ 1 ตู้ก่อนและหากุ้งตัวที่ 2 มาใส่ลงเลี้ยงทีหลังและใน 2 ตัวจะต้องเป็นตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัว ช่วงแรกหมั่นสังเกตว่ากุ้งทั้ง 2 ตัว เข้าคู่กันได้หรือไม่ ถ้าเข้ากันได้ในอนาคตจะมีโอกาสผสมพันธุ์กัน ในกรณีที่ผสมพันธุ์กันสำเร็จตัวเมียจะมีไข่ให้แยกเอาตัวผู้ออกมาจากตู้ เมื่อไข่ฟักออกเป็นลูกกุ้งให้แยกลูกกุ้งออกมา (พ่อ-แม่จะกินลูกกุ้ง) ให้เอาลูกกุ้งไปอนุบาลต่างหาก ปัจจุบันกุ้งเครฟิสจะแยกได้ 2 กลุ่มตามลักษณะของก้าม คือ กลุ่มก้ามหนามและ กลุ่มก้ามโตราคาซื้อ-ขายในปัจจุบันถูกลงมา เช่น บลูล็อบเตอร์เหลือตัวละ 40-60 บาทขนาดลำตัวครึ่งนิ้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น